ข่าวสังคมทั่วไป » รัฐบาลสั่งคุมเข้ม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคเกษตร ฝ่าฝืนตัดสิทธิ์การช่วยเหลือ

รัฐบาลสั่งคุมเข้ม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคเกษตร ฝ่าฝืนตัดสิทธิ์การช่วยเหลือ

24 มกราคม 2025
41   0

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร และการเผาในพื้นที่เกษตร เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจ ให้ได้หลายรอบต่อปี เช่น การเผาใบอ้อย ตอซังฟางข้าว และตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หามาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไข และเมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาตรการเชิงรุก ผ่าน “โครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรทุกโครงการ

อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยได้กำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วม “โครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร” ผ่านการตรวจเช็กประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตรในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.-31 พ.ค. 68 ด้วยการเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลของเกษตรที่ทำการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมด้วยการบูรณาการประสานการขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเผาพื้นที่อีกขั้นหนึ่ง โดยหากพบว่าเกษตรที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อตรวจสอบแล้วมีประวัติการเผาพื้นที่การเกษตร ให้ถือว่าขาดคุณสมบัติ ไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรทุกโครงการ โดยให้ถือเป็นการขาดคุณสมบัติ ในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนับตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2568-วันที่ 31 พฤษภาคม 2570

รองโฆษก กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการติดตาม และตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) จาก GISTDA พบว่าสถานการณ์การเผาในพื้นที่การเกษตรในขณะนี้ พบจุดความร้อน โดยมีหลายพื้นที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเพิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลขอย้ำว่า ขอให้เกษตรการงดวิธีการเผา เนื่องด้วยวิธีการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและมีความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้อย่างเด็ดขาด ขอให้เกษตรปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเป็นการปลูกพืช ให้เป็นไปในรูปแบบที่ไม่ต้องมีการเผา ปลูกพืชทดแทนจากพืชล้มลุก เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง หรือไม้ยืนต้นที่ไม่โตเร็ว ซึ่งจะสามารถเป็นส่วนช่วยในการเก็บกักคาร์บอนได้ดี หรือการปลูกพืชทดแทนพื้นที่นาปรัง เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะเวลาที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชน รัฐบาลพร้อมดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่มาตรการการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนในมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนให้การจัดการและการแก้ไขปัญหาการเผาหมดไปอย่างยั่งยืน” นายอนุกูลกล่าว