นครราชสีมา-เกษตรกรยังคงลักลอบเผาพื้นที่การเกษตรต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐานถึง 59.5 มคก./ลบ.ม. สิ่งแวดล้อมภาค 11 ระดมทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหา เผยมีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่อง ต้นเหตุจากการเผาและอากาศเย็น
“เพจเมืองยางบ้านเอ็ง” ได้โพสภาพไฟไหม้ตอซังข้าวบริเวณทุ่งนา ห่างจากโรงพยาบาลเมืองยาง ตำบลเมืองยาง อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 300 เมตร ซึ่งจะเห็นว่ามีกลุ่มควันไฟที่เกิดจากการลักลอบจุดไฟเผาตอซังข้าวของชาวนาในพื้นที่ ได้ลอยขึ้นไปปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง สร้างฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง
ถึงแม้ว่าทางอำเภอเมืองยาง จะมีการประกาศแจ้งเตือนเกษตรกร รณรงค์ให้ชาวนาในพื้นที่หยุดการเผาตอซัง เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมกับมีมาตรการขั้นเด็ดขาด เอาผิดกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาตอซังข้าวแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่ามีการลักลอบเผาตอซังข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่กลัวความผิดตามกฎหมาย ไม่สนใจนโยบายของภาครัฐ สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่อาจประสบอุบัติจากควันไฟที่บดบังการมองเห็นได้
ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ก็ได้มีการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครราชสีมา, สำนักงานทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา, อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา, ผู้แทนจากสมาคมชาวไร่อ้อย จ.นครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อวางแผนการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่แบบบูรณาการ
นางสาวกุลชา ธนะขว้าง ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยจากการรายงา พบว่า จ.นครราชสีมา มีค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงถึง 59.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 1 รองลงมา จ.สุรินทร์ 54.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, จ.ชัยภูมิ 49.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ จ.บุรีรัมย์ 48.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ
ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.สภาพอากาศที่เย็น ทำให้อากาศไม่ฟุ้งกระจายสูงขึ้นชั้นบรรยากาศด้านบน และ 2.มีการเผาเกิดขึ้นหลายพื้นที่ ทั้งนี้สภาพอากาศเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม แต่ในส่วนของการลักลอบเผาพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ ยังคงมีเกิดขึ้นจำนวนมาก จากข้อมูลรายงานจุดฮอตสปอต หรือจุดความร้อน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่า จ.นครราชสีมา มีมากที่สุดถึง 15 จุด โดยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ 1 จุด อยู่ในเขตป่าสงวน 4 จุด อยู่ในพื้นที่การเกษตร 6 จุด และพื้นที่อื่นๆ 4 จุด ส่วน จ.ชัยภูมิ พบจุดความร้อน 12 จุด, จ.สุรินทร์ 11 จุด และ จ.ชัยภูมิ 9 จุด
ดังนั้นในระยะ 3 สัปดาห์นี้ จึงทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นเกินมาตรฐานในทุกพื้นที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปีนี้มีแนวโน้มการเกิดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าปีที่แล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถกระจายไปตามทิศทางลมสู่หลายจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้นระยะนี้จึงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยกันรณรงค์ลดการเผา ไม่ว่าจะเป็นเผาตอซังข้าว เผาไร้อ้อย หรือเผาขยะ เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง อาจจะเกิดการลุกลามเป็นบริเวณกว้างได้ ส่วนประชาชนก็แนะนำให้งดการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง
หากจำเป็นก็ให้สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นไว้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ และเด็กเล็ก เป็นต้น รวมทั้งชุมชนเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง ให้ช่วยกันลดใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดควันจากรถยนต์ ที่เป็นต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา