พัฒนาชุมชน » เกษตรกรยุคใหม่ เลี้ยงปลาดุก ปลาสวาย ระบบปิด “ไมโคร นาโนบับเบิ้ล” ลดต้นทุน กำไรพุ่ง

เกษตรกรยุคใหม่ เลี้ยงปลาดุก ปลาสวาย ระบบปิด “ไมโคร นาโนบับเบิ้ล” ลดต้นทุน กำไรพุ่ง

23 พฤษภาคม 2024
217   0

เกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่กำแพงเพชร โชว์การเลี้ยงปลาดุก และปลาสวายระบบปิด “ไมโครนาโนบับเบิ้ล” ช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดต้นทุน ปลารอดชีวิต ได้กำไร 1 หมื่นบาทต่อบ่อ เตรียมส่งออกตามโควตา 1 แสนตัน

ถือว่าเป็นต้นแบบของสมาร์ท ฟาร์ม ยุคใหม่ สำหรับ นางไพรวัน โพธิ์หวี อายุ 57 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อยและมีอาชีพเลี้ยงวัว อยู่บ้านเลขที่ 101 ม.13 ต.วังชะโอน อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร ที่หันมาเลี้ยงปลาสวายและปลาดุกแบบระบบปิด เรียกว่า ไมโคร นาโนบับเบิ้ล (Micro/nano bubbles) เป็นเทคโนโลยีฟองอากาศที่มีอนุภาคขนาดเล็กมาก ซึ่งมีกระบวนการในเรื่องการบําบัดน้ําเสียให้สะอาด โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในการเลี้ยงปลาบ่อยครั้ง โดยปกติเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจะเลี้ยงในบ่อดินที่ขุดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงแบบเดิม จนบางรายขาดทุนกับพันธุ์ปลาที่ปล่อยลงบ่อดินนั้นรอดชีวิตน้อย รวมถึงระบบน้ำที่อาจจะเกิดจากอาหารที่ให้ปลาในแต่ละครั้ง และหลงเหลือตกค้างจนน้ำเน่าเสีย สุดท้ายได้ผลผลิตไม่ตรงตามเป้าหมาย

ทั้งนี้วิธีเลี้ยงปลาแบบ ไมโครนาโนบับเบิ้ล สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำาแบบความหนาแน่นสูงปริมาณมากๆได้ ซึ่งเป็นการจัดการน้ำาหมุนเวียน น้ำาที่ผ่านการบําบัดจะมีคุณภาพดีแล้วนํากลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยประหยัดน้ำและป้องกันการติดเชื้อจากภายนอก โดยจะมีการลอยตัวของสิ่งขับถ่าย (ขี้ปลา) และเศษอาหารเหลือตกค้างในบ่อขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสามารถตักของเสียดังกล่าวนำไปรดน้ำต้นไม้ พืชผักสวนครัว เพื่อเป็นปุ๋ยได้ ช่วยในการลดต้นทุนการเลี้ยงปลาอีกทาง โดยระบบนี้ลงทุนไม่มาก

ปัจจุบัน นางไพรวัน นำเทคโนโลยี “ไมโคร-นาโนบับเบิ้ล” มาช่วยให้การเลี้ยงปลาสวายและปลาดุก ทำให้มีปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ให้อาหารปลาก็ง่าย โดยปล่อยพันธุ์ปลาลงในบ่อปิดผ้าใบ ครั้งละ 2,000-3,000 ตัว ต่อ 1 บ่อ มีรอบการจับปลาออกจำหน่าย 45-60 วัน หักค่าอาหารและต้นทุน ได้กำไร 10,000 บาท/ต่อบ่อ โดยปัจจุบันเลี้ยงทั้งหมด 4 บ่อ ได้กำไรแล้วกว่า 40,000 บาท ซึ่งต้นทุนทุกอย่างรวมค่าโครงสร้างและระบบปัจจุบัน 4 บ่อ ต้นทุน 155,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจาก ธ.ก.ส.ใกล้บ้าน

นางไพรวัน บอกว่า สาเหตุที่หันมาเลี้ยงปลาในระบบปิดนี้ เพราะที่ผ่านมาเลี้ยงแบบเดิมขุดดินจะลำบาก ซึ่งแบบใหม่จะให้อาหารง่ายขึ้น และน้ำที่บำบัดมีของเสียสามารถเอาไปรดน้ำต้นไม้ได้ โดยได้กำไรต่อบ่อที่ 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเลี้ยงอยู่ 4 บ่อ โดยได้รับเงินทุนจาก ธ.ก.ส. โดยใช้เงินทุนจำนวน 155,000 บาท

ด้านนายสมเกียติ จันทร์งาม อายุ 69 ปี ประธานโครงการเลี้ยงและส่งออกปลา บอกว่า ได้รับคำแนะนำจากภาครัฐในเรื่องตลาดการส่งออกในทวีปแอฟริกา ประเทศไนจีเรีย ในเร็วๆ นี้จะมีตัวแทนจากประเทศไนจีเรียเดินทางมาสร้างความเชื่อมั่นว่าจะรับชื้อผลผลิตอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ต้องเร่งส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาให้มีผลผลิตส่งออกตามต้องการของตลาดให้มากที่สุด พร้อมทั้งกำไรที่จะได้จากระบบการเลี้ยงปลาแบบ ไมโครนาโนบับเบิ้ล ลดต้นทุน เพิ่มพูลผลผลิต โดย 1 บ่อ กำไรจะอยู่ที่ 10,000 บาท แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถหาปลาให้ได้ตามโควตาปีละ 100,000 ตัน แต่เรายังโชคดีที่สามารถนำปลาที่อยู่ในภูมิประเทศ เช่น ปลาทะเล มารวมกันกับปลาของเกษตรกรที่เลี้ยงขึ้นมา และส่งออกในรอบ 2 เดือน รอบละ 10,000 ตัน ตามเกณฑ์ที่ต้องการ

นายสมเกียรติ บอกต่อว่า นอกจากนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร ให้ความสนใจที่จะเลี้ยงปลาในระบบดังกล่าวเพิ่มขึ้น และในวันที่ 19 มิ.ย. 67 จะมีการจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตร 5 ภาค ที่ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ โดยจะมีตัวแทนทูตเศรษฐกิจจากประเทศไนจีเรียมาดูสินค้าของเกษตรกรที่ร่วมโครงการครั้งนี้ด้วย