สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม สนับสนุน การพัฒนาเทคโนโลยี “ระบบไกด์อัจฉริยะ”(Smart Guide) ในเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน แบบ Smart tourism และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ในยุค New Normal
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2564) ที่วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นำโดย ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ และคณะ ลงพื้นที่ต่อยอดผลผลิตงานวิจัย จากโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีระบบไกด์อัจฉริยะในเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสมุทรสงคราม ชูเอกลักษณ์ด้านอาหารในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัด พลิกฟื้นชุมชน และจังหวัด หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยใช้วิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช.ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม มุ่งสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเด็นสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ทั้งในมิติวิชาการ นโยบาย ชุมชนสังคม และพาณิชย์ สำหรับแผนงานวิจัย“การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง” ที่ วช.ให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
ทั้ง 9 แห่ง เป็นการเชื่อมการใช้ประโยชน์ และหนุนเสริมการขยายผลงานวิจัยสู่การพัฒนาชุมชนการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรอง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่เข้ามามีผลกระทบ ทำให้ทราบว่า งานวิจัยและนวัตกรรม สามารถเข้ามาสนับสนุนและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและประชาชนได้เป็นอย่างดี นับเป็นการยกระดับและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
โครงการวิจัยนี้ต่อยอดมาจากโครงการในปีแรก (การพัฒนาสื่อดิจิทัล 3 ประเภท อาทิ แอปพลิเคชัน Go Samutsongkhram) โดยมีแนวคิดการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และสื่อดิจิทัล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตามแผนงานการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยตระหนักว่า จังหวัดสมุทรสงครามมีผลผลิตทางการเกษตร และอาหารที่มีชื่อเสียงโดดเด่นหลายอย่าง สามารถนำมาพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในแนวคิด “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ได้ ซึ่งครอบคลุมกับเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การเกษตร การประมง และการบริโภคสินค้าจังหวัด นักวิจัยได้ออกแบบเส้นทางอาหารที่น่าสนใจ พร้อมชุดข้อมูลอาหาร ถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่า (Story telling) ช่วยเพิ่มมูลค่าอาหาร ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ เส้นทางพืชผลทางการเกษตรแลชุมชนเกษตรท่องเที่ยว ที่ปรากฏผลิตผล อาทิ มะพร้าว ส้มโอ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม และใบชะครามจากนาเกลือ เส้นทางปลาทูและอาหารทะเลชายฝั่งของดีเมืองแม่กลอง อาทิ กะปิคลองโคน หอยหลอด และสุดท้าย คือ เส้นทางขนมหวานเมืองสมุทร ที่ดึงจุดเด่นและเรื่องเล่าของขนมหวานที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งทั้งสามเส้นทางล้วนสอดแทรกเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงครามไว้ทั้งสิ้น
ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในฐานะหัวหน้าโครงการ เผยว่า จากการวิจัยและออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวแล้ว จึงได้ผลิตผลจากการวิจัย คือ ระบบเทคโนโลยีไกด์อัจฉริยะ และระบบ AR ชุดข้อมูลอาหารท่องเที่ยว ที่เป็นรูปธรรรม สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและเกษตรกร ในการใช้เทคโนโลยีประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล และช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ที่ต้องลดการสัมผัส และเว้นระยะห่างทางสังคม โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มชุมชน เกษตรกร หน่วยงานระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรสงคราม หน่วยงานระดับท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร รวมทั้งนักท่องเที่ยว ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนสามารถต่อยอด เพื่อสร้างรายได้ทางอื่นได้อีก เช่น การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การสร้างสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีไปสนับสนุนโครงการ/นโยบาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้การท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนภายหลังการเปิดประเทศจากสถานการณ์โควิด-19
“ในอนาคต ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลการท่องเที่ยวชุมชนสร้างสรรค์ และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเมืองรองเพิ่มมากขึ้น ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในเขตภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีเอกลักษณ์แบบผสมผสาน ขณะนี้ระบบไกด์อัจฉริยะอยู่ในช่วงพัฒนาด้านเทคนิคให้สมบูรณ์พร้อมใช้ ส่วนชุดข้อมูลอาหารท่องเที่ยว ได้รวบรวมข้อมูลสำเร็จไปแล้วกว่า ร้อยละ 90 แม้จะวันหนึ่งโควิด-19จะหมดไปแล้ว แต่นวัตกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่ และพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ สามารถเป็นต้นแบบของความเข้มแข็งในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรได้” ดร.นิตินันท์ กล่าวเสริม
เทคโนโลยีระบบไกด์อัจฉริยะ ภายใต้ชื่อ “Samut Food smart guide by Rmutp” ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเส้นทางการท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสงคราม สามารถรับฟังคำบรรยายด้วยระบบเสียงและภาพ แบบ 3D ประกอบกับการใช้ ระบบ AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ให้นักท่องเที่ยวสแกนผ่าน QR Code
บนป้ายที่ติดตั้งตามจุดเส้นทางต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงชุดข้อมูลอาหารที่มีชื่อเสียง ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกจำนวนมากได้