ข่าวสังคมทั่วไป » กรมประมงจับไม่หยุด “ล่าปลาหมอคางดำ” เดินหน้าฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

กรมประมงจับไม่หยุด “ล่าปลาหมอคางดำ” เดินหน้าฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

31 กรกฎาคม 2024
277   0

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงและจังหวัดสมุทรสงคราม จัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ครั้งที่ 5/2567 จับปลาไม่หยุด ขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและคืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ธรรมชาติและชุมชน

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนมีการกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งการควบคุมและกำจัดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ท่านอธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว ได้อนุญาตให้สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการในการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยใช้เครื่องมืออวนทับตลิ่ง ขนาดตาอวน 0.6 มิลลิเมตรขึ้นไป มีความยาวของอวนไม่น้อยกว่า 40 เมตร มีความกว้างของอวนไม่น้อยกว่า 5 เมตร และการใช้สารเบื่อเมาประเภทกากชา (ซาโปนิน) ทำการประมงปลาหมอคางดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติและบรรลุตามเป้าหมายในการลดปริมาณปลาชนิดนี้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่ได้มีการ Kick Off อย่างเป็นทางการไป เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 สถานที่ในการจัดกิจกรรมวันนี้ ณ บริเวณคลองย่อยคลองบางบ่อ (ข้างร้านเจ๊แก่น) หมู่ที่ 1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประชาชนแจ้งเบาะแสพบการ แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำหนาแน่น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันแจ้งเบาะแสการพบปลาหมอคางดำให้กับกรมประมง เพื่อจัดทีมไล่ล่าปลาหมอคางดำในครั้งถัดไป

นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกิจกรรมลงแขก-ลงคลอง ครั้งที่ผ่านๆ มา พบว่ามีสัดส่วนชนิดสัตว์น้ำตามธรรมชาติชนิดอื่นๆ ติดขึ้นมากับการจับปลาเพิ่มมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากการลงแขก-ลงคลอง จับปลาหมอคางดำแล้ว ยังมีกิจกรรมมอบพันธุ์ปลากะพงขาว ตาม MOU ที่ทำร่วมกับกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายที่มีความตระหนักถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และร่วมลงมือดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยนำร่องมอบพันธุ์ปลากะพงขาวให้กับกลุ่มกองทุนกากชา 3 กลุ่ม จำนวน 4,000 ตัว สำหรับเพาะเลี้ยงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของสมาชิกภายในกลุ่ม เป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร เมื่อปลามีขนาดโตขึ้นและสามารถไล่ล่าได้ดีทำการส่งมอบปลาคืน 10% ให้กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำมาปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป ซึ่งปลากะพงขาวที่ใช้ในกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

ในส่วนของจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร มีมติเสนอให้นำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม มีข้อสั่งการให้แต่ละท้องถิ่นร่วมมือกันจัดกิจกรรมลงแขก-ลงคลอง เพื่อรวมพลังกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัด ทั้งนี้สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม จะออกหนังสือประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากชาวบ้านและชุมชนงดเว้นการจับปลาผู้ล่าในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการจัดกิจกรรมปล่อยปลาผู้ล่า เป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่มีการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างจริงจังและต่อเนื่องกับทุกภาคส่วนในการร่วมมือแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและคืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ธรรมชาติและชุมชน