ข่าวสังคมทั่วไป » ความจริงที่ควรรู้ของ “ปลาหมอสีคางดำ”

ความจริงที่ควรรู้ของ “ปลาหมอสีคางดำ”

4 กรกฎาคม 2024
285   0

สัปดาห์ที่ผ่านมาจังหวัดที่ติดทะเลของไทยคึกคักกันเป็นพิเศษ มีข่าวออกสื่อหลายแขนง หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยกระดับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นวาระแห่งชาติ โดยแต่งตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัด 13 จังหวัด ที่พบว่ามีปลาชนิดดังกล่าวแพร่ระบาด และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ จากการประชุมร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทำให้ได้รับข้อมูลของจังหวัดที่มีการประชุมคณะทำงานฯ ไปแล้ว เช่น สงขลาและนครศรีธรรมราช เห็นได้ว่าบางจังหวัดสามารถบริหารจัดการได้ดีด้วยตนเองทั้งการกำจัดและการแปรรูปเพิ่มมูลค่า

10 กว่าปีมานี้ มีข้อมูลที่หลายฝ่ายควรรับทราบ คือ ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron นี้ เป็นปลาต่างถิ่นที่ประเทศไทยเคยมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและส่งออกไปไม่น้อยกว่า 10 ประเทศ เช่น คูเวต แคนาดา สหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งบางประเทศมีการนำเข้าในระดับหลักหมื่น แสดงให้เห็นว่าปลานี้มีความต้องการเป็นปลาสวยงาม การจะส่งออกได้ย่อมต้องมีผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์หลายรายมาขยายผล

จากข้อมูลของกองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของสหรัฐ พบว่าสหรัฐเคยมีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำมาทดลองเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาหลุดออกไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก ทำให้มีการประกาศห้ามนำเข้าจนถึงปัจจุบัน (https://dlnr.hawaii.gov/ais/blackchin-tilapia/)

อีกหนึ่งตัวอย่าง ในปี 2556 ประเทศฟิลิปปินส์ มีรายงานการพบปลาหมอสีคางดำในระบบนิเวศและฟาร์มปลาในเมืองบาตาอัน (Bataan) ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการเรียกขานปลาชนิดนี้กันว่า Gloria, Cichilds, Tilapia Arroyo ทั้งนี้ นักวิชาการฟิลิปปินส์ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาด้วยการนำไปทำเป็นปลาซูริมิ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากการแปรรูปปลา เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนระดมพลังมาร่วมกันจับปลาและช่วยลดจำนวนปลาได้อีกทาง

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปลาหมอสีคางดำ ไทยมีการเลี้ยงเพื่อส่งออก แต่ขอตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า “พ่อแม่พันธุ์ปลา” มีการนำเข้าจากหลายรายเป็นการนำเข้าอย่างถูกต้องหรือไม่ และหลังจากปี 2559 การส่งออกปลาชนิดนี้เกือบเป็นศูนย์ แล้วพ่อแม่พันธุ์ปลาไปไหน ที่สำคัญลูกหลานปลาที่ไม่ได้ส่งออกมีการดำเนินการอย่างไร ในเวลานั้นไทยมีกฎระเบียบในการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้มีความเข้มงวดและเข้มแข็งเพียงไร

เท่าที่ตรวจสอบพบว่า มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 กำหนดห้ามนำเข้าปลา 3 ชนิด คือ 1. ปลาหมอสีคางดำ 2. ปลาหมอมายัน (Cichlasoma urophthalmus และ 3. ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterrotilapia buttikoferi) หากต้องนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง

เห็นได้ว่า “ปลาหมอสีคางดำ” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย มีผู้นำเข้าหลายรายแต่สังคมไม่ได้รับทราบมาก่อน ดังนั้นการแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การมาสืบหาว่าใครนำเข้าเพราะปัญหาเกิดขึ้นแล้ว แต่ควรจะพุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนปลานี้เฉพาะหน้าได้อย่างไร และจะกำจัดการแพร่ระบาดในระยะยาวได้อย่างไร ภาครัฐควรมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเป็นระบบ โดยระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำมาศึกษากายภาพของปลาชนิดนี้โดยเฉพาะในเรื่องวัยเจริญพันธุ์และการวางไข่ เพื่อหาทางกำจัดปลาหมอสีคางดำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยลดปริมาณปลานี้และผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ และศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลานี้มาแล้ว โดยภาครัฐเป็นเรือธงในการปฏิบัติการ และควรดำเนินการควบคู่กับการฟื้นฟูสมดุลระบบนิเวศ อันจะเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทย ขณะเดียวกันจะเป็นการส่งเสริมให้ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม พึ่งพาอาศัยกันอย่างยั่งยืน./

โดย… นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ