ข่าวสังคมทั่วไป » บพท. ประชุมการพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว

บพท. ประชุมการพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว

25 พฤศจิกายน 2024
40   0

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับโครงการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ได้จัดงานประชุมการพัฒนาประเด็นการวิจัยภายใต้การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจโดยการผลักดันและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายบุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวถึงทิศทางในการสนับสนุนทุนภายใต้กรอบวิจัย “การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งโจทย์วิจัยจะมุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 และเพิ่มเมืองน่าอยู่จำนวน 50 เมืองภายในปี พ.ศ. 2570 ตามมิติของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน/ ท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จรวมถึงมุ่งพัฒนาให้เมืองมีข้อมูล ความรู้ กลไก และกระบวนการในการบริหารจัดการเมืองให้มีความสามารถทางการแข่งขัน บนฐานการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดการจ้างงานประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

ไฮไลท์สำคัญของงาน คือ การเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โจทย์วันนี้ของพรุ่งนี้” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจสีเขียวของ บพท. เข้าร่วม อาทิ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ดร.พรพิมล วราทร โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณา ติดตาม และประเมินผลฯ กล่าวถึง ความคาดหวังของการพัฒนาโจทย์วิจัยในอนาคตของการพัฒนาบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นย้ำถึง การบูรณาการเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ต้องผสมผสานคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล พร้อมทั้งบูรณาการมุมมองด้านวัฒนธรรม (Culture-Based) เพื่อสร้างความยั่งยืน และการให้ความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางนโยบายที่เข้าใจความต้องการของพื้นที่ และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริง ในส่วนของการเสวนานั้น ผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ได้นำเสนอแนวคิดและมุมมองการพัฒนา เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สู่ความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มต้นที่

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม เพื่อพัฒนารูปเเบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งเเวดล้อมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานและพร้อมรับมือกับความท้าทายที่โลกและพวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภัยพิบัติ การจัดการขยะและพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ณ ขณะนี้รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถนำไปสู่ความยั่งยืน รวมถึงการผสานแนวคิดที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก (Nature-based solutions) และวัฒนธรรมและเศรษฐกิจพอเพียง (Culture-based solutions) เพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เน้นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste) และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบวัสดุเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนได้ รวมถึงการพิจารณาปลายทางของสินค้า

ผศ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การศึกษาการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructures) ทั้งโครงสร้างพื้นฐานในเชิงกายภาพ (Physical infrastructures) โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial infrastructures) โครงสร้างพื้นฐานด้านเมืองอัจฉริยะและดิจิทัล อาคารสีเขียวและการบริหารชายฝั่ง (Green building and coastal management) กรอบคิดเชิงนโยบายและธรรมาภิบาล (Policy and governance framework) นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวยังไม่สามารถพึ่งพาการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรสนับสนุนแนวทางให้ธุรกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้ และต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และต้องคำนึงถึงทั้งงบประมาณและผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่ด้านการเงิน แต่ยังรวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย อีกทั้งการดำเนินโครงการในพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และผู้ใช้งานจริง

คุณปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เล่าถึง การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ที่มุ่งเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างเมืองที่น่าอยู่ คนมีความสุข สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และเป็นแห่งการเรียนรู้ การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและประชาชน ในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ การสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและได้ประโยชน์ร่วมกันในลักษณะ Win-Win situation

คุณสุวิมล วัฒนะวิรุณ ตัวแทนจากUNIDO กล่าวถึง การพัฒนาที่คิดถึงทุกคนอย่างครอบคลุม (Social Inclusiveness) และในทุก ๆ ขั้นตอนควรคำนึงถึง การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง โดยสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ควรขับเคลื่อนไปพร้อมกับการแผนปฏิบัติการเฉพาะเชิงพื้นที่ การมีชุดข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐานด้านงบประมาณและการเงิน การออกแบบนโยบายที่ทำร่วมกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการพัฒนาคนเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจสีเขียว เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน การสร้างความยั่งยืนต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ภายในงานนี้ได้มีการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายภาคส่วน ในการพัฒนาและกำหนดโจทย์วิจัยในการสนับสนุนทุนภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” ในอนาคต โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่ครอบคลุมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่ตอบโจทย์การพัฒนาของพื้นที่ การศึกษาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructures)รวมไปถึงการศึกษานโยบายและการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจและกำลังเป็นโจทย์วิจัยสำคัญที่ท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางชีวภาพเเละบริการของระบบนิเวศ (Biodiversity and Ecosystem Services)การเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture and food system) และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy)

#บพท
#หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่
#GreenEconomy