ข่าวสังคมทั่วไป » บสย.ขานรับนโยบายรัฐ ช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน–แก้หนี้อย่างยั่งยืน

บสย.ขานรับนโยบายรัฐ ช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน–แก้หนี้อย่างยั่งยืน

26 พฤศจิกายน 2024
38   0

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น 76,840 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ในสัดส่วนสูงถึง 90% ค้ำประกันเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ที่เหลือ 10% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันเฉลี่ย 4.78 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 46,775 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 398,998 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 177,056 ล้านบาท ภายใต้ 3 โครงการหลัก ได้แก่

1. โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 25,057 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 71,570 ราย

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 1,543 ราย

3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 8,278 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 4,481 ราย

ยอดค้ำประกัน PGS 11 ทะลุ 2 หมื่นล้าน ช่วยรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ

สำหรับโครงการหลัก PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่ง บสย. ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม ตั้งแต่เปิดโครงการถึง 31 ตุลาคม 2567 มียอดค้ำประกัน 20,131 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 19,039 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. ถึง 73% (ลูกค้าใหม่) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs สะท้อนว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น

ปัจจัยสำคัญมาจากการออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ Micro SMEs ไปจนถึงผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ IGNITE THAILAND และธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่สังคม Carbon ต่ำ รวมถึง SMEs กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จุดเด่นของโครงการ คือ ช่วยลดภาระทางการเงินให้กับ SMEs ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก (รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน) วงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40 ล้านบาท ค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี ช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ตอบโจทย์การเสริมสภาพคล่อง และการต่อยอดธุรกิจ โดยโครงการที่ได้รับการตอบรับสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการ IGNITE BIZ มียอดค้ำประกัน 6,975 ล้านบาท ตามด้วยโครงการ SMART BIZ มียอดค้ำประกัน 6,898 ล้านบาท และ IGNITE ONE มียอดค้ำประกัน 2,689 ล้านบาท

สำหรับ ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 28.8% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.4% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 10% ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนค้ำประกัน 50% สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่กิจการต่างๆ เน้นขยายการลงทุนเพื่อรองรับไฮซีซั่น ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.7% ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้าน คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

ช่วยแก้หนี้ SMEs ที่ถูกจ่ายเคลมสูงสุดรอบ 33 ปี

นายสิทธิกร กล่าวว่า บสย. ยังมีภารกิจสำคัญในการช่วยแก้หนี้ SMEs ที่ถือหนังสือค้ำประกันของ บสย. และถูกจ่ายเคลมจากสถาบันการเงิน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” หรือ มาตรการ 3 สี (ม่วง เหลือง เขียว) ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2565 เป็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ บสย. พัฒนาขึ้นตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยเปิดกว้างและให้โอกาสลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม ปรับตัวต่อลมหายใจ ช่วยรักษาสภาพคล่องระหว่างที่เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. โดยมีจุดเด่นคือ “ผ่อนน้อย เบาแรง” “ตัดเงินต้น ก่อนตัดดอก” หรือจ่ายเงินต้นบางส่วน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อนยาว 7 ปี “หนี้ลด หมดเร็ว“ ทั้งนี้ ตั้งแต่ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2565 ถึงปัจจุบัน บสย. ประสบผลสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกจ่ายเคลมไปแล้วถึง 16,577 ราย (ในปี 2567 ระยะเวลา 10 เดือน จำนวน 3,131 ราย) คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 10,636 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.

ความสำเร็จที่ชัดเจน คือ ช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการกลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 126 ราย โดยมีแนวโน้มที่ลูกหนี้ที่ต้องการ “ปลดหนี้” ผ่านมาตรการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (มาตรการปลดหนี้ เริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15%)

ยกระดับช่องทาง Digital LINE OA ร่วมกับปรับโฉมสาขา Branch Reformat

อีกบทบาทที่สำคัญของ บสย. คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในประเทศไทย ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 -31 ตุลาคม 2567 มีการให้ความรู้ทางการเงินแก่ SMEs รวม 22,141 ราย แบ่งเป็นการให้คำปรึกษา 6,793 ราย และการอบรม 15,348 ราย คิดเป็นความต้องการสินเชื่อรวม 17,107 ล้านบาท โดยสามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) คิดเป็น 18.32%

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs แต่ละภูมิภาค บสย. ได้เดินหน้ายกระดับสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่ “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ให้คำปรึกษาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และความรู้ทางการเงิน ร่วมกับการให้บริการผ่าน LINE OA : @tcgfirst เพิ่มความสะดวกให้ SMEs สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษา และลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการต่างๆ ของ บสย. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ บสย. สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศได้มากยิ่งขึ้น (ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกบนช่องทาง LINE Official Account มากกว่า 38,000 ราย)

ยกระดับองค์กร เร่ง Transforms กลไกค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่

บสยพร้อมตอบโจทย์นโยบายรัฐ ด้วยการยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ในประเทศไทย ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บสย. และ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) และ Korea Technology Finance Corporation (KOTEC) สถาบันค้ำประกันสินเชื่อของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนทางการเงินให้กับ SMEs รวมทั้งยกระดับเครดิต การันตี โมเดล โดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ของผู้ประกอบการ SMEs เช่นรูปแบบการใช้จ่าย และพฤติกรรมการชำระเงิน มาคำนวณคะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ (Alternative Credit Scoring Model) พร้อมนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับรูปแบบธุรกิจใหม่ พร้อมยกระดับการดำเนินงาน ตลอดจนการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ จากการ MOU กับทั้งสองสถาบัน จะช่วยขยายศักยภาพและสร้างความพร้อมของการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. โดยขยายรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ จากปัจจุบันที่ค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต (Portfolio Guarantee Scheme : PGS) เป็นการค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ (Direct and Individual Guarantee) โดย บสย.จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะทำให้ บสย. ขยายขอบเขตให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการ SMEs ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อ Credit Guarantee

จากเป้าหมายดังกล่าว ตลอดเวลาที่ผ่านมา บสย. ได้ยกระดับ Transforms องค์กรในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทย และเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาครัฐ สู่การจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเน้น 4 มิติหลัก ดังนี้

1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม และพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับโฉมและยกระดับสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformatสู่การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ร่วมกับช่องทาง Digital LINE OA : @tcgfirst

2. ด้านการพัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก (Alternative Credit Scoring Modelเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ RBP (Risk-Based Pricing) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ SMEs ช่วยผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ

3. ด้านการใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อตลอดระยะเวลา 33 ปี มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

4. ด้านการใช้ Digital Disruption เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน เป็นแรงผลักดันให้ บสย. ต้องปรับตัวและเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสามารถเป็นองค์กรที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ตามพันธกิจและการเป็น SMEs’ Gateway ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ทั้งระบบ” นายสิทธิกร กล่าวทิ้งท้าย