ข่าวสังคมทั่วไป » สสว.ยกระดับผู้ประกอบการ เสริมศักยภาพด้าน Digital Marketing เท่าทันเศรษฐกิจปรับตัว

สสว.ยกระดับผู้ประกอบการ เสริมศักยภาพด้าน Digital Marketing เท่าทันเศรษฐกิจปรับตัว

29 มิถุนายน 2024
301   0

สสว.เดินหน้าเสริมศักยภาพด้าน Digital Marketing ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังพบผู้ประกอบร้อยละ 8.3 เริ่มยกระดับ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจในด้านการพัฒนาทักษะแรงงานในการใช้เครื่องจักร/อุปกรณ์ รองลงมาคือด้าน Digital Marketing เพื่อกระตุ้นการตลาดด้านบริการและท่องเที่ยว ตั้งเป้ามุ่งสร้างดัชนีความเชื่อมั่น SMESI  ให้เพิ่มขึ้น หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.1 มีสาเหตุจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจ 

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.1 มีสาเหตุจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง หลังจากที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมการเดินทาง และการท่องเที่ยว อีกทั้งในเดือนนี้ยังขาดปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อการดำเนินธุรกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่องจากการอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และราคาสินค้าต้นทุนที่เร่งตัวสูงขึ้น 

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาการขนส่งสูง จากการสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ เห็นได้จากดัชนีองค์ประกอบปัจจุบันเกือบทุกองค์ประกอบปรับตัวลดลง ได้แก่ ด้านคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุนโดยรวม ต้นทุน (ต่อหน่วย) และกำไร อยู่ที่ระดับ 60.8 57.2 51.6 38.9 55.5 ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 62.9 59.2 52.1 40.8 และ 58.9 ขณะที่องค์ประกอบด้านการจ้างงานอยู่ที่ระดับ 50.4 ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า

สำหรับ ดัชนี SMESI รายสาขาธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 52.6 ลดลงจากระดับ 53.2 ในเดือนก่อนหน้า สถานการณ์ต้นทุนที่ตึงตัวอีกครั้งกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในภาคการผลิต ถึงแม้หลายสาขาจะยังมีการขายสินค้าได้ต่อเนื่อง เช่น กลุ่มสินค้าพลาสติก และยาง แต่ภาพรวมเริ่มมีการปรับลดกำลังการผลิตจากราคาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 50.8 ลดลงจากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งชะลอตัวลงทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค การค้าวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการค้าและบริการในกลุ่มยานยนต์ จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 53.3 ลดลงจากระดับ 55.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยชะลอตัวลงชัดเจนจากกิจกรรมบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มชะลอลงและต่ำกว่าเป้าที่คาดไว้ ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 52.3 ลดลงจากระดับ 53.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งชะลอตัวลงจากปริมาณการเก็บเกี่ยวที่ลดลงในเกือบทุกภูมิภาค จากปัจจัยของสภาพอากาศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจการเกษตรของภาคใต้ปรับดีขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวยางพารา

เมื่อพิจารณาระดับความเชื่อมั่นฯ SME รายภูมิภาค เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่า ทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักโดยมีรายละเอียดดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 51.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าระดับ 53.0 โดยเฉพาะภาคธุรกิจการผลิต และบริการมีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากเดือนก่อนหน้ามีการขยายตัวของกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากกลุ่มแรงงานที่กลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาล ทำให้ยอดขายของภาคธุรกิจลดลงโดยเปรียบเทียบ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคใต้ อยู่ที่ 52.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.2 เศรษฐกิจชะลอตัวลงจากปัจจัยด้านต้นทุนที่เร่งตัวสูงขึ้น หลังการสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันเชื้องเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลส่งผลให้ต้นทุนขนส่งเกือบทุกรายการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจในพื้นที่ อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจการเกษตรปรับดีขึ้นชัดเจนจากการเข้าสู่ช่วงการเก็บเกี่ยวยางพารา

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคเหนือ อยู่ที่ 55.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 56.6 มาตรการยกเว้นวีซ่าของนักท่องเที่ยวจีน เป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงให้กิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยในภูมิภาคยังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า  โดยเฉพาะกับภาคการบริการ และการผลิตบางสาขา  แต่ภาคธุรกิจการเกษตรชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากปริมาณการผลิตที่ปรับลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 51.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.5 เนื่องจากขาดปัจจัยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการปิดภาคเรียนของหลายมหาวิทยาลัยส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลดลง กระทบกับการจับจ่ายใช้สอยในหลายสาขาธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการ ยอดขายของธุรกิจจึงปรับตัวลดลง 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง อยู่ที่ 51.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 ธุรกิจชะลอตัวลงจากภาคการค้าทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลง สะท้อนถึงความแผ่วของกำลังซื้อในพื้นที่ รวมถึงภาคธุรกิจอื่น เช่น สาขาการผลิตอาหาร สาขาผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก การบริการก่อสร้าง เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.9 เศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลงชัดเจนในทุกภาคธุรกิจ ขาดปัจจัยกระตุ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามภาคการผลิตหลายสาขาปรับดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตพลาสติก และยางพาราที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.8 แนวโน้มทรงตัว โดยเฉพาะกลุ่มภาคการค้า บริการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวบางสาขาที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรม สัมมนา อย่างไรก็ตามคาดว่าจะได้ผลดีด้านกำลังซื้อจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงปลายปีงบประมาณ ในขณะที่ภาคการผลิตและภาคธุรกิจการเกษตรชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ด้วยภาวะกำลังซื้อที่แผ่วลง SME กว่าร้อยละ 25.1 จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นที่สามารถเพิ่มยอดคำสั่งซื้อสินค้า/บริการในทุกสาขาธุรกิจ นอกจากนี้ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย เนื่องจาก SME เผชิญปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนราคา ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ปัญหาด้านหนี้สินที่ SME ต้องเผชิญนั้นก็มีความต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้ เช่น หนี้นอกระบบ และหนี้บัตรเครดิต รวมไปถึงการช่วยเหลือด้านการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ ธุรกิจต้องการการเปิดตลาดใหม่ทั้งใน และต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นางสาวปณิตา ยังกล่าวอีกว่า ผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ SME โดยสอบถามผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,705 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 – 30 พฤษภาคม 2567 พบว่า มี SME เพียงร้อยละ 8.3 ลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานในการใช้เครื่องจักร/อุปกรณ์ รองลงมาคือ ด้าน Digital Marketing เช่น สาขาการท่องเที่ยว บริการความงาม/สปา ขณะที่ SME ในภาคธุรกิจการผลิตร้อยละ 17.1 ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก และผลิตภัณฑ์จากยาง

นอกจากนี้ ผลของการสำรวจยังระบุว่า SME ร้อยละ 32.3 นำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจเพราะทำให้กระบวนการทำงานสะดวกและง่ายมากขึ้น รองลงมาคือ การลดระยะเวลาการทำงาน และ ทดแทนการใช้แรงงาน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19.9 และ ร้อยละ 15.2 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาตามขนาดของธุรกิจ พบว่า SME รายย่อย จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพราะต้องการเพิ่มช่องทางการขายและทำตามเทรนด์ของตลาด เช่น ธุรกิจ

ภาคการบริการและภาคการค้า ในขณะที่ SME ขนาดกลางและขนาดย่อม จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ทดแทนการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะในธุรกิจภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม SME มองว่า เงินทุน แหล่งความรู้ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ SME เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทันสมัยได้ยาก 

“สสว. ให้ความสำคัญพร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และเติบโตอย่างยั่งยืนในการปรับตัวสู่การทำธุรกิจเพื่อลยกระดับการเข้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ SME ACADEMY 365 เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ พร้อม e-learning  SME COACH สำหรับ SME ที่มีปัญหาด้านธุรกิจ อยากมียอดขายเพิ่ม เพิ่มโอกาสใหม่ ๆ แบบเจาะลึก โดยให้คำปรึกษาผ่านออนไลน์ SME CONNEXT ช่องทางหลักแหล่งรวมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นช่องทางสื่อสารหลักไปยัง SME และยังรวมถึง BUSINESS DEVELOPMENT SERVICE (BDS) เพื่อร่วมส่งเสริมในการเติบโตของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการผลักดันและส่งเสริมให้ SME ลงทุนด้านเทคโนโลยีกับธุรกิจของตนเองเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนา หรือการให้ทุนเพื่อการพัฒนาสินค้า บริการ หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิต เป็นต้น” รักษาการ ผอ.สสว. ระบุ

ทั้งนี้ SME สามารถค้นหาองค์ความรู้ บริการหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนหรือสถาบันการเงิน ฯลฯ ได้ตามความเหมาะสมกับความต้องการประกอบธุรกิจของท่านได้ที่ https://www.smeone.info ของ สสว. หรือสามารถรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจได้ที่ https://smeconnext.com หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร โทร. 1301

นอกจากนี้ สสว. ยังเปลี่ยนที่ทำการใหม่ ดังนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เลขที่ 120 หมู่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิม พระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารซี) ชั้น 2, 10, 11 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210 โทรศัพพ์ 02-142-9000 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป