นครราชสีมา-เกษตรกรโคราช หันมาอัดฟางแท่งนาปรังขาย สร้างรายได้เสริม วันละเกือบหมื่นบาท หลังแห่ทำนาปรังกันเพียบระหว่างรอฝน ก่อนเริ่มทำนาปี

ชาวนาจังหวัดนครราชสีมา เริ่มสำรองพืชอาหารสัตว์ไว้ให้สัตว์ได้กินในช่วงหน้าแล้งกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะฟางข้าวที่ชาวนาต้องเตรียมไว้ให้โค กระบือ ซึ่งช่วงหน้าแล้งจะขาดแคลนหญ้าสด ต้องให้โค กระบือ โค กินฟางข้าวแทน จึงทำให้เกษตรกรหลายรายหันมายึดอาชีพอัดฟางแท่งขายสร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว

อย่างเช่น นายสม อ่ำกลาง อายุ 59 ปี เกษตรกรในตำบลนิคม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ชาวนาในตำบลนิคม กว่า 80 % จะปลูกข้าวนาปีช้ากว่าพื้นที่อื่น เพราะข้าวนาปีจะต้องรอน้ำฝนเป็นหลัก และแม้ว่าจะเข้าหน้าฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ในพื้นที่แทบจะไม่มีฝนตกลงมาเลย โชคดีที่แถวนี้อยู่ใกล้กับลำน้ำมูล ชาวนาจึงอาศัยน้ำในลำน้ำ มาทำนาปรังกันไปก่อน คาดว่า จะได้เริ่มหว่านข้าวนาปีในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ แล้วไปเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไวแสงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมกันอีกที

ทั้งนี้คนที่ปลูกข้าวนาปรังไว้ หลายแปลงก็เริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้ว ส่วนโค กระบือ ที่เคยออกไปหากินหญ้าสดหรือฟางแห้งตามทุ่งนาได้ แต่มาปีนี้ ชาวนาหันมาทำนาปรังกันมากขึ้นในช่วงที่ไม่มีฝนตก จากนั้นก็จะทำนาปีต่อ บริเวณแถบนี้จึงแทบไม่มีแปลงนาที่ว่างให้วัวควายลงไปกินหญ้า เพราะทำนาปี-นาปรังกันหมด ส่งผลให้หญ้าสดและหญ้าแห้งตามท้องนาขาดแคลนไปด้วย

ตนและเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ จึงต้องสำรองฟางอัดแท่งไว้ในสต๊อก เพื่อให้วัวควายได้มีหญ้าแห้งไว้กินตลอดช่วงหน้าแล้ง โดยฟางอัดแท่งบางส่วนจะเตรียมนำไปขายให้กับเพื่อนเกษตรกร ในราคาก้อนละ 35 บาท ซึ่งจากเดิมจะขายในราคาที่ถูกกว่า ก้อนละ 20 บาทเท่านั้น แต่เศรษฐกิจไม่ดี ค่าใช้จ่ายสูง และมีความต้องการฟางอัดแท่งกันมาก จึงปรับราคาเพิ่มขึ้นเพื่อให้อยู่ได้

ตอนนี้เกษตรกรก็ทยอยเกี่ยวข้าวนาปรัง เตรียมจะหว่านข้าวนาปี ฟางข้าวอัดแท่งจึงมีราคาสูงขึ้น ทำให้ตนมีรายได้จากการรับจ้างอัดฟางขายและแบกฟางขึ้นรถ เฉลี่ยวันละ 8,000-10,000 บาท เลยทีเดียว .

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา