
ยุคนี้ต้องปรับตัวให้ไวทันกับสถานการณ์โลกซึ่งเกษตรกรโคราชถอดบทเรียน ปลูกมันสำปะหลังราคาตกต่ำผันผวนไม่แน่นอน จึงพลิกผืนดินหันปลูกแฟงขาย ชุบชีวิตไม่กี่เดือนโกยเงินล้าน เห็นผลตอบแทนหายเหนื่อยปลิดทิ้ง คนเราจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังต้องรู้จักปรับเปลี่ยนเรียนรู้ในการเพิ่มมูลค่า เพราะหากยังย่ำอยู่กับที่ไม่มีการพัฒนา คนอื่นๆ หรือคู่แข่งก็จะหนีทิ้งห่างเราไปได้

อย่างเกษตรกรครอบครัว “พินิจวรานนท์” ก่อนเคยปลูกมันสำปะหลังมานานหลายปี แต่ราคาก็สุดจะผันผวนดิ่งลงทุกวันบางครั้งขายได้ไม่คุ้มทุน จึงต้องหันมาปลูกแฟงขายไม่คาดคิดผลผลิตจะทำยอดพุ่งกระฉูด รายได้ไม่กี่เดือนทะลุล้านบาทเลยทีเดียว
ครอบครัวของ “นางสุพิณ พินิจวรานนท์ “อายุ 53 ปี เกษตรกรผู้ปลูกแฟงในพื้นที่บ้านใหม่สมบูรณ์ ต.บ้านใหม่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา กำลังเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตแฟงภายในไร่ที่ปลูกไว้กว่า 14 ไร่กันตลอดทั้งวันเพื่อนำส่งขายตลาดดอนแขวน ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าทางการเกษตรที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ห่างจากไร่ประมาณ 20 กิโลเมตร

“ตอนนี้แฟงกำลังได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยครอบครัวนี้ได้เก็บผลผลิตแฟงส่งขายมาประมาณ 1 เดือน ในราคากิโลกรัมละ 8 – 10 บาท ได้เงินก้อนมาแล้วกว่า 1 ล้านบาท และยังคงเหลืออายุการเก็บเกี่ยวอีกประมาณเดือนเศษ”
นางสุพิณ เจ้าของสวนแฟงไร่พินิจเจริญ บอกว่า แฟงไร่นี้ตัวเองปลูกเอาไว้มาเมื่อประมาณ 3 เดือนกว่าๆ และเริ่มเก็บผลผลิตมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค.68 ที่ผ่านมา ขายได้ราคาตั้งแต่ 8 – 12 บาท ต่อกิโลกรัม ล่าสุดวันนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 9 บาท ซึ่งก็เป็นราคาปรับขึ้นลงวันต่อวัน ตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาได้เงินไปแล้วกว่า 1.2 ล้านบาท และยังสามารถเก็บผลผลิตต่อไปได้อีกเดือนกว่า เนื่องจากต้นแฟงยังมีสภาพดีและให้ผลผลิตต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มลดจำนวนลงแล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามตอนนี้ตนเองถือว่าได้กำไรจากการปลูกแฟงเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนทั้งค่าปลูกและค่าเก็บเกี่ยวไป 2 แสนบาทเท่านั้น

เดิมที่ที่ดินแปลงนี้ตัวเองและครอบครัวจะใช้ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลังและอ้อย แต่ด้วยสภาพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มจะมีน้ำขังในช่วงฝนตกชุก ทำให้มันสำปะหลังต้องเจอกับปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า อีกทั้งปีไหนได้ผลผลิตดีราคาก็มักจะตกต่ำ เพราะเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ราคาสผันผวนหนัก ทำให้มักจะขาดทุนเป็นส่วนใหญ่
จากนั้นจึงได้ลองปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการปลูกพืชผักที่ใช้เวลาเพาะปลูกระยะสั้นแต่ระยะเก็บเกี่ยวนาน ซึ่งก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด เพราะจะทำให้มีรายได้เข้ามาเร็วขึ้น การปลูกมันและอ้อยได้เก็บเกี่ยวแบบปีต่อปี แต่ก็ต้องมีการทำการบ้านศึกษาข้อมูลเพราะการปลูกผักก็ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากราคาปรับขึ้นลงวันต่อวัน ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ โชคดีที่ตอนนี้มีตลาดรับซื้ออยู่ใกล้บ้านจึงสามารถที่จะพูดคุยปรึกษาวางแผนตลาดกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดได้ง่ายขึ้น

“สำหรับการเพาะปลูกแฟงนั้นใช้เวลาการเพาะปลูกประมาณ 75 วันจึงสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้ และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจนประมาณแฟงอายุได้ 120 วัน ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน ครอบครัวของตนทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจกว่าจะมาถึงวันนี้ เมื่อเห็นผลตอบแทนเงินล้านก็หายเหนื่อย”
นางสุพิณ บอกอีกว่า ความคิดของตนตอนนี้นั้น มันสำปะหลัง ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำการเพาะปลูก เพราะด้วยสภาพพื้นที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ประกอบกับราคาที่ผันผวนอย่างมากในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเจอกับปัญหาราคาที่ตกต่ำ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อีกทั้งยังมีระยะเวลาการเพาะปลูกยาวนานเป็นปี แต่ก็จะต้องได้ลงปลูกบ้างในช่วงที่เป็นเวลาพักแปลงชั่วคราว เพราะการปลูกพืชผักจะปลูกซ้ำที่เดิมไม่ได้นานนัก ไม่เช่นนั้นก็จะมีในเรื่องของปัญหาสภาพดินและโรคแมลงเข้ามารบกวนได้
