ข่าวสังคมทั่วไป » เดินหน้ายกระดับให้บริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์สอดรับกับเทคโนฯดิจิทัล

เดินหน้ายกระดับให้บริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์สอดรับกับเทคโนฯดิจิทัล

8 มิถุนายน 2024
260   0

การประชุมวิชาการประจำปีสมาคมสังคมสงคราะห์ทางการแพทย์ไทย ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน ภายใต้หัวข้อ “ยกระดับบริการคลินิกสังคมสงเคราะห์” ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของนักสังคมสงเคราะห์และสหวิชาชีพเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อขยายผลการทำงานในระดับพื้นที่ (SocialTelecare)

พญ.วชิราภรณ์ อรุโณทอง รองผู้อำนวยการสำนักสุขภาพดิจิทัล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการเดินหน้าคลินิกสังคมสงเคราะห์ในยุคดิจิทัลมีความสำคัญมากในปัจจุบัน เนื่องจากจะทำให้การแลกเปลี่ยนและจัดเก็บข้อมูลมีการเชื่อมโยงในทุกหน่วยงาน จากเดิมที่ใช้การบันทึกในรูปแบบกระดาษ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมเพื่อช่วยในเรื่องการจัดสรรทรัพยากร และการให้บริการประชาชน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมในการบริหารจัดการทั้งบุคลากรและข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งการที่จะก้าวไประบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนั้น บุคลากรเองก็จะต้องมีความพร้อมมีการทำการศึกษาข้อมูลและระบบในปัจจุบัน โดยในส่วนของด้านสุขภาพนั้นกระทรวงสาธารณสุขคาดหวังว่าประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง รู้ในเรื่องของการใช้ยา การวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อจะเป็นข้อมูลของผู้เข้ารับบริการทางสุขภาพ และสิ่งสำคัญคือเมื่อประชาชนทราบข้อมูลทางสุขภาพของตนเองก็จะทำให้เกิดความตระหนักในการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ

ด้านนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวถึงการยกระดับการบริการคลินิกสังคมสงเคราะห์ในระบบดิจิทัล ว่า นักสังคมสงเคราะห์ถือเป็นหนึ่งในวิชาชีพสำคัญในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายหรือโรคทางจิตใจ แต่มิติทางด้านสังคมก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมิติที่ต้องดูแลให้ครบถ้วนซึ่งในกระบวนการของนักสังคมสงเคราะห์ จะต้องมีการดำเนินการทั้งกายวินิจฉัยการประเมิน รวมทั้งการปรับแผนในการดูแลและประสานกับเครือข่าย ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันการที่มีเทคโนโลยี ก็จะถือเป็นช่องทาง และความก้าวหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันก็มีแพลตฟอร์มของนักสังคมสงเคราะห์ที่จะเป็นเครื่องมือให้นักสังคมสงเคราะห์ในการดำเนินการผ่านเทคโนโลยีต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้เข้ารับบริการให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ สค.ร.ระพีพรรณ คำหอม นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงการยกระดับการบริการคลินิกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ว่า ถือเป็นหนึ่งในความคาดหวัง ที่จะยกระดับการทำงาน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม Social telecare เพื่อบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการเชื่อมต่อข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเต็มระบบ ก็จะทำให้งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์สามารถทำงานควบคู่กับ ระบบ HIS และ Health Link กลไกของภาครัฐเพื่อให้ ขยายเครือข่ายกับสหวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม และสิ่งสำคัญของการยกระดับครั้งนี้ก็จะทำให้นักสังคมสงเคราะห์เห็นภาพรวมของการทำงานสังคมสงเคราะห์ เพื่อออกแบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ ส่วนผู้เข้ารับบริการก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายลดการเดินทางในการเข้ารับบริการ ลดความแออัดการมาใช้บริการที่โรงพยาบาล จะทำให้การดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเป็นการทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ตามสโลแกน คุ้มค่า แม่นยำ รวดเร็ว

ดร. กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (สวทช.) มองว่าปัจจุบันการใช้เครื่องมือดิจิทัลมีส่วนสำคัญเพราะสามารถทำงานได้รวดเร็วทำให้สามารถจัดการระบบอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดประโยชน์ต่องานด้านระบบบริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์เนื่องจากทุกข้อมูลจะถูกรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ วันนี้นักสังคมสงเคราะห์ต้องพยายามศึกษาการใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถบูรณาการและเชื่อมต่อข้อมูลได้ครอบคลุมจะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะจะเห็นภาพใหญ่ของระบบข้อมูลทั้งหมด

นางสาววีรมลล์ จันทรดี หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในกระบวนการทำงานมีทั้งการจัดเก็บข้อมูลการประเมินปัญหา เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการสื่อสารเพื่อจัดการปัญหา วิเคราะห์ปัญหาจากจำนวนงานที่มาก การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมโยงทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ สหวิชาชีพ ชุมชนหรือหน่วยงานด้านอื่นๆเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาของผู้ป่วย ครอบครัว สังคม