พัฒนาชุมชน » เน้นใช้ประโยชน์วัสดุเหลือใช้การเกษตรรับมือการเผา ลดฝุ่นละออง PM2.5

เน้นใช้ประโยชน์วัสดุเหลือใช้การเกษตรรับมือการเผา ลดฝุ่นละออง PM2.5

11 มกราคม 2025
40   0

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงต้นปีประเทศไทยมักจะประสบปัญหาฝุ่นละออง และหมอกวัน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้ง อากาศแห้งและเย็น ประกอบการกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ ที่ก่อให้เกิดควัน ซึ่งกิจกรรมภาคการเกษตรก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดมาตรการดำเนินงานภายใต้การรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 เพื่อเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการจัดการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับการส่งเสริมการเกษตรเพื่อช่วยลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดังนี้

1) มาตรการสร้างความตระหนักรู้และป้องปราม จัดทำฐานข้อมูล โดยรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูกพืชที่เสี่ยงต่อการเผา (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย) และข้อมูลเกษตรกรในแต่ละจังหวัดเพื่อวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ที่เสี่ยงการเผา และใช้เทคโนโลยีโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและจุดความร้อนเพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น

2) มาตรการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุ โดยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำเชื้อเพลิงชีวมวล หรือการแปรรูปวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า พร้อมสนับสนุนการแปรรูปเศษวัสดุ โดยจัดเตรียมข้อมูลและความร่วมมือกับโรงงานแปรรูปวัสดุเหลือใช้เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเศษวัสดุมาขายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า

3) มาตรการปรับลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชมูลค่าสูง ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ข้าว อ้อย มาเป็นพืชหมุนเวียนหรือพืชมูลค่าสูง เช่น ถั่ว หรือพืชผักเพื่อให้การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทำได้ง่ายขึ้น

4) มาตรการไม่เผาเรารับซื้อ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผา โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่เกษตรกรที่ไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ด้วยการสนับสนุนการรับซื้อผลผลิตหรือการจัดการเศษวัสดุในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

5) มาตรการไฟจำเป็น ควบคุมและบริหารจัดการการเผา ในการขออนุญาติเผาตามความจำเป็น ตามข้อกำหนดและมาตรการของแต่ละจังหวัด เช่น การกำจัดศัตรูพืช หรือการจัดการวัสดุทางการเกษตรก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีการใช้ระบบ “Burn Check” หรือช่องทางกระบวนการอื่นๆ ตามมาตรการของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตการเผาอย่างถูกต้อง

และ 6) การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ ใช้สื่อชุมชนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับผลกระทบจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุอย่างถูกวิธี เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษวัสดุ 

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพราะปลูกรายชนิดของพืชเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผา ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน พร้อมข้อมูลเกษตรกรแยกรายจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรการบริการจัดการพื้นที่เกษตรที่เสี่ยงการเผาไหม้ เพื่อจัดทำระบบปฏิบัติการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงรายจังหวัด อำเภอ และตำบล ตามรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนในแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถลดจุด Hotspot จากการเผาในพื้นที่เกษตรรายพืช ปี 2568 ได้แก่ ข้าว ลดลง 30%  ข้าวโพด ลดลง 10% และอ้อย ลดลง 15% ส่วนการลดจุด Hotspot รายภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (17 จังหวัด) ลดลง 30% จาก 4,550 จุด เหลือ 3,185 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง 20% จาก 9,928 จุด เหลือ 7,942 จุด ภาคตะวันตก ลดลง 15% จาก 1,608 จุด เหลือ 1,367 จุด ภาคกลาง ลดลง 10% จาก 2,032 จุด เหลือ 1,829 จุด ภาคตะวันออก ลดลง 10% จาก 2,052 จุด เหลือ 1,847 จุด ภาคใต้ ลดลง 10% จาก 1,017 จุด เหลือ 915 จุด โดยเกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ไปใช้ประโยชน์

เช่น การทำปุ๋ยหรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนและพืชมูลค่าสูงในพื้นที่เกษตรกรรม สร้างรายได้ให้เกษตรกรนำไปสู่การไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างถูกต้องได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน