ข่าวสังคมทั่วไป » เหล่ากูรูเวที “Green Talk” หนุนนวัตกรรม “ก่อสร้างสีเขียว” เพื่อโลกเพื่อเรา

เหล่ากูรูเวที “Green Talk” หนุนนวัตกรรม “ก่อสร้างสีเขียว” เพื่อโลกเพื่อเรา

19 กันยายน 2024
172   0

บริษัท เข็มเหล็ก ผู้นำทางด้านนวัตกรรมการก่อสร้างสีเขียวเชิญเหล่ากูรูด้านสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างแชร์ความคิดหนุน“ก่อสร้างสีเขียว”เพื่อโลกเพื่อเรา

เมื่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกจาก “โลกร้อน” ทวีความรุนแรงจนกลายเป็น “โลกเดือด” สร้างความวิตกกังวลและส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกมิติ ทุกฝ่ายต่างแสวงหาทางออกและหนทางแก้ไข พร้อมทั้งต้องลงมือปฏิบัติในทันที เพื่อจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง นวัตกรรมการก่อสร้างสีเขียว (Green Construction) เป็นหนึ่งทางเลือกสำคัญของแวดวงการก่อสร้าง ที่ถูกพูดอย่างต่อเนื่องและเริ่มบ่อยครั้งขึ้น เมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงผลของ Green Construction ซึ่งเป็นแนวทางการนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่จะช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง

เมื่อเร็วๆ นี้ บนเวที “Green Talk” ในงาน “88 Green Day” ซึ่งจัดโดย บริษัท เข็มเหล็ก จํากัด ผู้นำทางด้านนวัตกรรมการก่อสร้างสีเขียว เหล่ากูรูด้านสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้าง กล่าวถึงประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกันไว้อย่างน่าสนใจ และสามารถนำไปต่อยอดขยายผลต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างกว้างขวาง

นายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด กล่าวว่า ที่มาของ “88 Green Day” คือความตั้งใจของ KEMREX ให้เกิดการรวมตัวของคนที่ทําธุรกิจทางด้าน Construction เพื่อแสวงหาแนวทางในการมือกันให้ทิศทางของธุรกิจมุ่งหน้าไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ขณะที่เข็มเหล็กเองก็มีผลิตภัณฑ์ด้านการก่อสร้างที่พยายามผลักดันด้านนี้มาโดยตลอด และยังเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 คือ ที่อยู่อาศัย จึงอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการการปลดปล่อยคาร์บอนตั้งแต่แรกเริ่ม

เข็มเหล็กยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นผู้นำในการร่วมก่อตั้ง “สมาคมโลว์คาร์บอนคอนสตรัคชั่นแอนด์เทคโนโลยี” (Low Carbon Construction and Technology Association หรือ LCTA) เพื่อเชิญคณาจารย์ นักธุรกิจ และผู้สนใจ มาร่วมมือกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง แสวงหาแนวทางความร่วมมือกับภาครัฐ พร้อมทั้งเปิดตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยด้านนี้ และช่วยกันผลักดันไปสู่สากล

ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนจะต้องมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ Circular Economy และ Greener Material สิ่งที่กําลังจะทำกันอยู่ในวันนี้ไม่ว่าจะเป็น Research เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ต้องตอบโจทย์เรื่อง Greener Material

นี่คือคีย์เวิร์ดของการจะสร้างนวัตกรรมในโลกของ Circular Economy ซึ่งมีคำศัพท์ Linear Economy อันเป็นกระบวนการทำธุรกิจ โดย Linear Economy กับ Circular Economy มีกระบวนการทำงาน 4 – 5 ส่วนหลักที่คล้ายกัน ส่วนที่ 1 คือการหา Material หรือว่า Raw Material ส่วนที่ 2 คือการผลิต Product ส่วนที่ 3 คือการเอา Product ไปจัดจำหน่าย ส่วนที่ 4 คือส่วนที่เอา Product นั้นมาใช้ และท้ายสุดก็คือเมื่อเราใช้เสร็จก็จะกลายเป็นขยะ นี่คือ Process หลักที่ไม่ว่าจะเป็น Linear Economy หรือเป็น Circular Economy ก็จะต้องมี Process แบบนี้หมด ณ วันนี้เป็น Linear ท้ายที่สุดก็เกิดเป็นขยะ และก็เกิดเป็นปัญหาให้กับชุมชน

หลายประเทศทั่วโลกจึงหันกลับมามองกันใหม่ว่า เราไม่ควรจะทำธุรกิจเป็นแบบ Linear Economy ถ้าเราจะรักษ์โลก มันควรจะเป็น 5 กลับมาหา 1 ได้ หรือพูดง่ายๆ คือ Process สุดท้ายเป็นขยะเมื่อเอากลับเข้ามาสู่กระบวนการที่ 1 ก็คือการไปเป็น Raw Material แล้วก็เอา Raw Material ตัวนี้ไปผสมกับ Material ที่เป็นวัสดุธรรมหรือว่าวัสดุที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วก็เอากลับมาสร้างเป็น Product ใหม่ สร้างเป็น Product ใหม่เสร็จแล้วก็เอากลับไปใช้งาน เหล่านี้คือกระบวนการที่เราเรียกว่าเป็น Circular Economy

ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมที่จะทำโครงการเหล่านี้ ทั้งคนทั่วไป ผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ รวมถึงภาครัฐ ถ้าเป็น Circle แบบนี้ก็จะเกิด Circular Economy ได้ ในต่างประเทศเห็นชัดเจนว่าทุกภาคส่วนสนับสนุนเรื่องการทำธุรกิจที่เป็น Circular Economy จะได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐคือการลดหย่อนภาษี เมื่อเขาได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐก็จะพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกเอากลับมาขาย คนในประเทศเองจะต้องตระหนักว่าถ้าไม่ซื้อผลิตภัณฑ์แบบนี้ก็จะต้องรับปัญหาโลกร้อน ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันจึงจะทำให้ Circular Economy เกิดขึ้นได้ และยังมีคีย์เวิร์ดอีก 1 คำ คือ Innovation เพราะถ้าไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ Circular Economy ทำได้ยาก

ฉะนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยในหน่วยงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนต้องร่วมกันคิด สร้างองค์ความรู้เพื่อที่จะสามารถที่จะนำขยะเหล่านี้กลับมาเป็น Raw Material ให้ได้ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ Circular Economy ประสบความสำเร็จ มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 เรื่องของ Raw Material ส่วนที่ 2 เรื่องของการใช้ Product ส่วนที่ 3 คือแนวความคิดของการที่จะเอา Product นี้กลับมา Recycle สิ่งที่เราทำวันนี้เพื่อคนรุ่นต่อไป อยากจะให้ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้รับบริการ รัฐบาล ทุกภาคส่วนอยากจะขอให้ร่วมกัน สร้างโลกของเราให้เขียวมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง เข็มเหล็กเป็น Product หนึ่งที่เรียกว่าเป็น Greener Material เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดคําว่า Ner มันหมายความว่า ขั้นกว่า แปลว่า มันเขียวกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จุดเด่นของการใช้เข็มเหล็กก็คือเป็น Material ที่เราเรียกว่า Precast คือทำมาเรียบร้อยแล้วจากโรงงาน จะช่วยลดกระบวนการที่จะต้องผลิตหน้างาน เช่น ลดปัญหาเรื่องของการขุดดินที่จะต้องใช้พลังงาน มันจะลดเรื่องของการจัดการเรื่องของดินที่เมื่อเวลาที่ขุดขึ้นมาแล้วจะเอาไปทิ้งไหนเหล่านี้ ลดเรื่องของมลพิษ ลดเรื่องของการจราจรที่ติดขัด เป็นต้น ถ้าเราหันมาเลือกใช้ Product เหล่านี้ เราก็สามารถที่จัดการเรื่องระยะเวลาในการขนส่ง และไม่ต้องจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเอาดินไปทิ้ง จึงเรียกว่าเป็นหนึ่งใน Greener Material เมื่อเทียบกับ Conventional Material หรือเมื่อเทียบกับระบบก่อสร้างแบบดั้งเดิม

ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นที่ต้องมีพื้นที่สีเขียว ที่จะทำให้เราเป็น Carbon neutrality แล้วก็เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยให้ความสำคัญกับ “รุกขกร” คือคนที่ทำหน้าที่ดูแลต้นไม้ ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า “หมอต้นไม้” เป็นอาชีพใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นราว 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นไม้มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอน เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ช่วยลดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศลงมาได้

ดังนั้นการดูแลต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ในเขตเมือง จึงเป็นส่วนช่วยในการช่วยดูดซับคาร์บอนลงมาจากชั้นบรรยากาศได้ ต้นไม้ที่เสื่อมโทรม ต้นไม้ที่ไม่โต ต้นไม้ที่ตาย เหล่านี้ คือ แหล่งของการปลดปล่อยคาร์บอน ยิ่งจะทำให้คาร์บอนในชั้นบรรยากาศเยอะขึ้น ซึ่งหน้าที่ของรุกขกรก็ช่วยส่งเสริมบทบาทของต้นไม้ ซึ่งประกอบเป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองให้ช่วยดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้นและก็ช่วยให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยมีรุกขกรน้อยมาก ไม่ถึง 100 คน การดูแลต้นไม้ทั้งประเทศจึงเป็นงานที่ค่อนข้างจะหนักทีเดียว

ปัจจุบันในประเทศไทยเริ่มเปิดโอกาสให้รุกขกรเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบ การดีไซน์ การวางแผน จนถึงการเริ่มก่อสร้าง ต้นไม้ต้องปลูกอย่างถูกวิธี ดูแลอย่างถูกต้อง ตัวอย่างไม้ล้อมบ้านเรา ขุดล้อมต้นไม้ขนาดใหญ่ ไม่เอารากมา เนื่องจากว่าปัญหาเรื่องการขนส่ง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีค้ำยัน ซึ่งปัจจุบันมหาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับทางเข็มเหล็กทำการศึกษาวิจัยเรื่องค้ำยันที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของความแข็งแรงความปลอดภัยกับต้นไม้และความปลอดภัยต่อมนุษย์ ทั้งนี้สังคมสีเขียวสร้างได้ด้วยมือของทุกคน เริ่มจากการปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้น เราก็จะมีต้นไม้ที่สร้างพื้นที่สีเขียวให้เราได้ทั่วทั้งเมือง

ดร.โชคอนันต์ วาณิชย์เลิศธนาสาร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องพูดกันคือทำอย่างไรให้โครงการก่อสร้างสีเขียวเกิดประโยชน์สูงสุด ในแง่การบริหารจัดการ นําไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะความเข้มข้นเชิงอุตสาหกรรมก่อสร้างกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องแสวงหาแนวทางที่จะส่งผลต่ออนาคตให้ความเป็นธรรมชาติและอุตสาหกรรมก่อสร้างผนวกรวมกัน นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “โครงการก่อสร้างสีเขียว” ซึ่งเป็นมรดกที่จะส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลาน เราต้องมาช่วยกันกำหนดแนวทางและทิศทางที่เหมาะสมตั้งแต่วันนี้แล้วเดินไปด้วยกัน

ในแง่ของ Worldwide เป็น เทรนด์ SDGs 17 ประการ เป็นเรื่องที่สอดคล้องและเกี่ยวโยงกันหมด ถามว่าถ้าวันนี้ประเทศไทยเราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้จะไปอย่างไร ให้มองเป็น 3 ระดับ ระดับแรก ต้องเป็นภาครัฐ แต่ภาครัฐก็มีเงื่อนไข กติกาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ ขณที่ระดับที่สอง คือ กลางน้ำ นั่นคือผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนไปได้เร็วและมีกําลังในการขับเคลื่อนได้สูงที่จะช่วยกันปรับ Mindset กระบวนการที่จะยกระดับคุณภาพสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต และสุดท้ายคือสถาบันการศึกษาที่ต้องโน้มน้าวเยาวชนในอนาคตให้ตระหนักเรื่องนี้ เราต้องไปพร้อมๆ กันในความเป็นภาคีร่วมแบบนี้ เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นแต่คงยังไม่เห็นผล ณ วันนี้ แต่เชื่อมั่นว่าจะไปตอบโจทย์ต่อสังคมโลกในอนาคต ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงและประหยัดสุด นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเกิดความยั่งยืน

ดร.พร้อม อุดมเดช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหลักสูตรสถาปัตยกรรมสหวิทยาการนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงออกแบบสถาปัตยกรรมว่าเป็นไม้แรกที่ได้รับการส่งต่อมาจากลูกค้า ออกแบบแล้วกําหนดตัววัสดุ และอาจจะรวมไปถึงกําหนดวิธีการก่อสร้างคร่าวๆ ด้วย ดังนั้นเมื่อเราต้องการไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงต้องมองทั้งสังคมที่ปลดปล่อยคาร์บอนออกมาน้อย และมีการดูดซับเอาคาร์บอนออกจากสภาพบรรยากาศได้มาก ซึ่งประสิทธิภาพของอาคารจึงมีความเกี่ยวข้องกัน

ในเรื่องของการออกแบบให้เหมาะสม ภาครัฐก็ต้องมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง ช่วยส่งเสริมทั้งผู้ผลิต ผู้ก่อสร้างและผู้ออกแบบ ผู้ใช้งานอาคารภาคเอกชนเองก็ต้องตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่ทําอาคารออกมาให้ตอบโจทย์ ผู้ผลิตวัสดุก็ต้องเสาะหานวัตกรรมใหม่หรือวัสดุใหม่ใหม่ซึ่งมีความรักษ์โลกมากขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ ต้องมองหาอาคาร มองหาผู้ออกแบบ มองหาผู้ก่อสร้างที่สามารถทําให้เป็นอาคารที่มีประสิทธิภาพสูงด้านสิ่งแวดล้อม ต้องทํางานด้วยกันทุกภาคส่วน ต้องทําพร้อมกันทุกคนทั่วประเทศถึงขั้นทั่วโลกเลยทีเดียว

ด้าน ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างมี Carbon Footprint ค่อนข้างมาก Supply Chain ยาว ดังนั้นจึงต้องหั่นเป็นท่อนๆ เรื่องแรกคือการพัฒนาวัสดุ หากจะให้กรีนคงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่ากรีนเนอร์ เขียวขึ้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และคลีนเนอร์ สะอาดขึ้น คือสิ่งที่ต้องมีการใช้วิจัยและการนวัตกรรมปรับเพิ่มขึ้น ตัวอย่างซีเมนต์ที่มีคาร์บอนต่ำ ถัดมาคือการใช้พลังงานให้เหมาะสมที่สุด และต่อด้วย Circular Economy วัสดุไหนที่เราไม่ได้ใช้แล้วนํากลับมา Upcycling Recycling ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีการสร้างวัสดุใหม่ เพราะถ้าเป็นแบบเดิมจะเป็นแบบ Linear ใช้แล้วผลิตและทิ้งไป

วันนี้เข็มเหล็กได้ทำให้คนที่อยู่ใน Sector เดียวกันแต่อาจจะไม่เคยรู้จักกัน มีข้อดีคนละอย่างสามารถเรียนรู้กันและกันได้ และหาสิ่งที่เรียกว่า Solution ให้ดีขึ้นเพื่อตอบโจทย์โลกใบนี้ ถามว่าดีอย่างไร โลกปัจจุบันไม่ได้นึกถึงเรื่องของผลิตภาพ ไม่ได้นึกถึงเฉพาะเรื่องของผลกําไร แต่ว่าในมิติของความยั่งยืนจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในสมุดพกของการทำธุรกิจ