ข่าวสังคมทั่วไป » “ไอแอลโอ” ต่อยอดโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต

“ไอแอลโอ” ต่อยอดโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต

20 พฤษภาคม 2024
361   0

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน หลังประสบความสำเร็จจากโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคตระยะที่ 1-2 และเปิดตัว “ยะลาโมเดล” เพื่อนำมาเป็นต้นแบบ สำหรับเทศบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ ไอแอลโอพร้อมเดินหน้าโครงการใหม่ที่จะต่อยอดจากโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับครอบครัวเยาวชนต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ได้จัดพิธีปิดโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพ โดยมีนาง เสี่ยวเยี่ยน เฉียน ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ร่วมกับนายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนางสาววรนันท์ ฉกามานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าสายงานองค์กรสัมพันธ์ และบริหารภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

ทางนายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า แรงงานเยาวชนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคม และเสริมสร้างความสามารถ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

โครงการนี้ได้สร้างความรู้ เพิ่มสมรรถนะในด้านต่าง ๆ และสร้างโอกาสจ้างงานให้แก่เยาวชน รวมถึงเยาวชนผู้มีความพิการ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดตลาดนัดแรงงาน การจัดการแนะแนวอาชีพ และการให้บริการจัดหางาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับ ทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุผล และเชื่อว่า เมื่อเยาวชนเหล่านี้ได้รับการพัฒนาทักษะที่ครบถ้วนแล้ว จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมั่นใจ และภาคภูมิใจได้อย่างแน่นอน

“ขอชื่นชมและขอขอบคุณมูลนิธิสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่สนับสนุนการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะที่ 1-2 รวมถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา และมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการช่วยเหลือเยาวชนทั้งหญิงและชาย ผู้ซึ่งเป็นกำลังหลักที่สำคัญของประเทศ”

นางสาวจิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสประจำประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทางองค์กรฯพร้อมจะขับเคลื่อนโครงการที่มุ่งเน้นด้านแรงงานเยาวชนอย่างต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต-ระยะที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้

โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมา 2 ระยะ รวมระยะเวลา 3 ปี ให้ความสำคัญในการสนับสนุนเยาวชนหญิงและเยาวชนชาย รวมถึงเยาวชนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงาน ผ่านการจัดฝึกอบรม ทักษะอาชีพและทักษะในการทำงาน การแนะแนวอาชีพ และการบริการจัดหางาน โดยในระยะที่ 1 เน้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยอง พระนครศรีอยุธยา และนครราชสีมา สำหรับระยะที่ 2 เน้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา สงขลา และยะลา

“ระยะที่สองเป็นโครงการที่ไอแอลโอ ได้ลงไปในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างแท้จริง โดยทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งที่โครงการโฟกัสเป็นพิเศษคือ ทำอย่างไรทำให้เยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยการเซ็ตเทศบาลนครยะลาโมเดล ที่เพิ่งจบโครงการไปมาเป็นต้นแบบความสำเร็จไปยังเทศบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ”

“โครงการรูปแบบ เทศบาลนครยะลาโมเดล เป็นจังหวัดแรกที่ทางเราลงไปทำกับท้องถิ่นโดยตรง โดยประสานกระทรวงแรงงานเข้ามาทำงานร่วมกับจังหวัดยะลาด้วย ทั้งกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมถึงเทศบาลนครยะลาด้วย ดังนั้น ตัวยะลาโมเดล จึงครอบคลุมหลาย ๆ มิติของการจ้างงาน และหลายมิติในตลาดแรงงาน”

ที่ผ่านมา ไอแอลโอให้ความสำคัญในสองภาคส่วน ส่วนแรกคือ เกี่ยวข้องกับตัวเยาวชน ได้แก่ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทำอย่างไรให้แรงงานเยาวชน มีทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ส่วนเยาวชนที่ไม่ได้ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำอย่างไรให้ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน เช่น เป็นยูทูปเบอร์ การขายของออนไลน์ ช่างตัดผม ร้านกาแฟ หรือร้านขนมหวาน เป็นต้น

ส่วนที่สอง เน้นให้ความสำคัญในเรื่องระบบการให้บริการจัดหางานภาครัฐในการที่จะให้บริการว่าทำอย่างไรที่จะช่วยเยาวชนและช่วยผู้ประกอบการในการจัดหางานได้

“ส่วนแผนงานการดำเนินงานต่อไป จะดูด้านการพัฒนาฝีมือและทักษะของคนในครอบครัวเยาวชน ซึ่งทางเราได้ประเมินไว้แล้วส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการใหม่ที่ต่อยอดโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคตต่อไป”

สำหรับผลงานที่สำคัญ ๆ ของโครงการที่ผ่านมาได้แก่ โครงการฝึกอบรมทักษะอาชีพและทักษะในการทำงานให้แก่เยาวชนจำนวนมากกว่า 1,000 คน รวมถึงเยาวชนพิการประมาณ 200 คน, โครงการร่วมมือกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในการกำหนดแนวคิดและจัดงานตลาดนัดแรงงานออนไลน์ที่จังหวัดระยอง โดยมีนายจ้างเข้าร่วม 46 บริษัท และผู้ที่กำลังหางานทำ ซึ่งรวมทั้งแรงงานเยาวชนมากกว่า 2,000 คน

โครงการส่งเสริมการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อการจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย และการถอดบทเรียนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการจัดงานสัมมนาออนไลน์ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน โครงการได้ให้แนวทางแก่องค์กร 18 แห่ง รวมถึงธุรกิจ 7 แห่งผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการและการแนะแนวเกี่ยวกับการเป็นสถานประกอบการสำหรับทุุกคนรวมถึงเยาวชนพิการในประเทศไทย

โครงการร่วมกับสำนักงานเทศบาลนครยะลา จัดงานแนะแนวอาชีพสำหรับเยาวชนในจังหวัดยะลา โดยงานนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สำรวจเส้นทางอาชีพและโอกาสในการฝึกอบรมต่างๆ ตลอดจนเข้าถึงบริการจัดหางานภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการสมัครตำแหน่งงานว่างที่กำลังเปิดรับอยู่ กิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 403 คน รวมถึงเยาวชน NEET และแรงงานเยาวชนที่กำลังหางานทำ