ตรุษจีน กระอักเลือด ผู้ประกอบการ-ชาวสวนทุเรียน ส่งออกไม่ได้ เสียหายนับพันล้านบาท จีนตั้งมาตรการโหด ต้องมีใบรับรองผลตรวจสาร “Basic Yellow 2” ส่วนไทย ยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัด วอนรัฐบาลรีบดำเนินการ ก่อนเกษตรกรย่อยยับหมดตัว
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2568 จากการที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีน ได้ตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารของทุเรียนไทย ที่นำเข้าประเทศจีน พบปัญหาการใช้สารย้อมสีชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “Basic Yellow 2” ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ ลักษณะเป็นผงสีเหลืองใช้ในการย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารนี้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B และทางการจีน กำหนดให้ทุเรียนทุกล๊อต ที่ส่งออกจากไทยไปจีน ต้องแนบผลวิเคราะห์ Basic Yellow 2 และผลต้องไม่พบสารดังกล่าว และก่อนการออกต้องมีใบ PC หรือใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบตรวจสารแคตเมียม และใบ test report ของสาร Basic Yellow 2 กำกับไปกับการส่งออกทุเรียนทุกครั้ง
จากกรณีดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่มีอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง และชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชุมพรอย่างมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อำเภอทุ่งตะโก และ อำเภอหลังสวน ซึ่งเป็นตลาดกลางศูนย์กลางรับซื้อส่งออกผลไม้ภาคใต้

ปรากฏว่าการซื้อขายทุเรียนเป็นไปด้วยความเงียบเหงา จากเดิมที่คึกคัก และผู้ประกอบการล้งส่วนใหญ่ก็ปิดกิจการไม่รับซื้อชั่วคราว เนื่องจากจีนกำหนดให้มีการตรวจวัด test report ของสาร Basic Yellow 2 เพื่อออกใบรับรองกำกับไปกับการส่งออกทุเรียน ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ล่าสุดที่ประเทศจีนประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา
ขณะที่จากประเทศไทยยังไม่มีเครื่องตรวจวัดดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการส่งออก ต้องส่งผลผลิตทุเรียนไปตรวจที่ด่านตรวจของจีน ทำให้ต้องเสียเวลารอคิวนานหลายวัน เพราะแต่ละวันจะมีทุเรียนส่งออกประมาณ 100-200 ตู้ ส่งผลให้ทุเรียนสุกงอม น้ำหนักลด เสื่อมคุณภาพ ราคาตกลงมาก บางรายก็ตรวจพบสารดังกล่าว จึงต้องถูกตีกลับ บางรายรอคิวนานหลายวันไม่ไหว ต้องนำกลับมาแกะเนื้อขาย ก่อนที่ผลผลิตเสียหายมาก

ด้าน น.ส.นฐมล ฤทธิประดิษฐ์โชค ผู้ประกอบการส่งออกล้ง LCY กล่าวว่าทุเรียนทีกำลังออกสู่ตลาดช่วงนี้เป็นผลผลิตนอกฤดูกาล ที่ชาวสวนหวังว่าจะขายในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้ ซี่งมีราคาสูงกิโลกรัมละกว่า 200 บาท แต่หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ทั้งผู้ประกอบการส่งออกและเจ้าของสวนทุเรียนเครียดกันทั้งหมด
ในส่วนของล้ง ตนได้จองซื้อทุเรียนจากชาวสวนไว้แล้วซึ่งต้องวางเงินมัดจะสวนละ 15 % ตอนนี้ได้วางเงินมัดจำให้กับชาวสวนทุเรียนไปแล้วหลายแห่ง รวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท และทุเรียนจะครบกำหนดตัดแล้ว ทำให้เครียดมาก เพราะถ้าตัดแล้วก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน เพราะต้องไปเข้าคิวรอการตรวจของด่านทางการจีนนานหลายวัน

ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลง ราคาก็จะตกลงด้วย และหากตรวจไม่ผ่านจะถูกตีกลับต้องเสียหายขาดทุนตู้ละประมาณ 5 ล้านบาท เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถออกใบรับรองการตรวจสาร Basic Yellow 2 ที่ประเทศจีนเพิ่งจะกำหนดบังคับใช้ล่าสุดนี้ได้เลย
น.ส.นฐมล กล่าวว่าจึงขอให้ทางรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปเจรจากับประเทศจีน หรือให้ประเทศจีนส่งเครื่องตรวจสารดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทยเพื่อเกิดความรวดเร็ว เพราะประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าว ทางการจีนก็ควรจะส่งเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการส่งออก ตอนนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งผู้ประกอบการ ชาวสวน และแรงงานอีกจำนวนมาก เฉพาะล้งของตนก็ใช้แรงงานมากกว่า 80 คนแล้ว

ขณะที่ นายสันต์ ฉิมหาด ผู้ประกอบการทุเรียนส่งออก กล่าวว่าในส่วนของตนได้ส่งทุเรียนออกไปประเทศจีนจำนวน 7 ตู้ ตอนนี้ได้ตีกลับมาทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถรอคิวได้นานหลายวัน เพราะทางฝ่ายจีนจะไม่สุ่มตรวจ แต่จะตรวจทุกตู้คอนเทรนเนอร์ที่ส่งออก ทำให้ล้าช้ามากใช้เวลารอนานหลายวัน จึงต้องตีกลับมาเพื่อแกะเนื้อขาย แม้จะขาดทุนก็ยอม ดีกว่ารอแล้วให้ผลผลิตเสียหาย
ทำให้ตนขาดทุนไปแล้วขณะนี้ตู้ละประมาณ 3 ล้านบาท รวม 7 ตู้ ก็ประมาณ 21 ล้านบาท คาดว่า จะมีทุเรียนต้องตีกลับจากมาตรการนี้ของประเทศจีนมากถึง 100-200 ตู้ ซึ่งแต่ละตู้จะบรรจุทุเรียนประมาณ 18,000 กิโลกรัม ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและชาวสวนจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายนับพันล้านบาทเลยทีเดียว

นายสันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทุเรียนที่ตนได้ไปจองและวางมัดจำไว้แล้ว ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมากทั้งในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช ตอนนี้ได้เวลาตัดแล้ว ถ้าไม่ตัดก็จะจะสุกงอมและร่วง ตนจึงต้องไปพูดคุยเจรจากับเจ้าของสวนที่วางเงินมัดจำไว้ว่า ขอให้ลดราคาลงมาเพื่อพบกันครึ่งทาง
เพราะมิฉะนั้นเราก็จะเจ็บด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย จากที่วางมัดจำไว้และทำสัญญาจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 210 บาท ก็ลดลงมาเหลือ 160 บาท ซึ่งตนก็ได้นำมาประกาศขายหน้าล้งในราคากิโลกรัมละ 80 บาทเท่านั้น ซึ่งแม่ค้าส่วนใหญ่ที่มารับซื้อก็จะนำไปแกะเนื้อขาย

ขณะที่บางส่วนก็ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจากันอยู่ เพราะตอนนี้ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากทางประเทศไทยยังไม่มีเครื่องตรวจออกใบรับรองสาร Basic Yellow 2 ตามที่ประเทศจีนเพิ่งจะกำหนดมาบังคับใช้ ซี่งทราบว่าประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจากต่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รีบเจราจากับประเทศจีนเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเร็ว
ด้าน น.ส.พรเพ็ญ จินาห้อง อายุ 49 ปี เจ้าของสวนทุเรียน กล่าวว่าทุเรียนตนมีอยู่เกือบ 10 ไร่ ตอนนี้ผู้ประกอบการส่งออกได้วางเงินมัดจำรับซื้อไว้แล้ว ซึ่งทุเรียนก็ครบกำหนดตัดแล้ว แต่ผู้ประกอบการก็ยังยืดเวลาออกไปอีก จึงทำให้ทุเรียนเริ่มจะสุกและร่วงหล่นแล้ว ซึ่งตนก็ยังไม่มีรู้จะทำอย่างไร ตนตั้งใจที่จะทำทุเรียนออกนอกฤดูกาล หวังจะขายได้ราคาสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ แต่ก็มาเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ทำให้ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยเร็ว