ข่าวเด่น » ท่าบ่อ นครพนมอ่วม น้ำโขงเอ่อล้มท่วมขยายวงกว้างคน-สัตว์เลี้ยงเดือดร้อนหนัก

ท่าบ่อ นครพนมอ่วม น้ำโขงเอ่อล้มท่วมขยายวงกว้างคน-สัตว์เลี้ยงเดือดร้อนหนัก

18 กันยายน 2024
154   0

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากแม่น้ำโขงสูง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 11.80 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่ง ประมาณ 20 เซนติเมตร คือ ที่ประมาณ 12 เมตร ไม่เพียงส่งผลให้น้ำโขงเริ่มเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่ม ยังกระทบลำน้ำสาขาสายหลัก ประกอบด้วย ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม มีปริมาณล้นเกินความจุ เนื่องจากไหลระบายลงน้ำโขงไม่ทัน โดยเฉพาะพื้นที่ บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม ถือเป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัย มีที่ตั้งบ้านเรือนติดกับลำน้ำสงคราม มากกว่า 300 หลังคาเรือน  เริ่มได้รับผลกระทบ จากลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม เอ่อล้น ทำให้สภาพหมู่บ้าน ถูกล้อมรอบ ไปด้วยน้ำ คล้ายเกาะกลางน้ำ และเริ่มท่วมบ้านเรือนติดริมน้ำบางส่วน นอกจากนี้ยังส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่นาข้าว ของเกษตรกร ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบมากกว่า 40,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงไม่ลด รวมถึงมีฝนตกหนักในพื้นที่ ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

นอกจากน้้น หมู่บ้านดังกล่าวยังเป็นพื้นที่หมู่บ้านเลี้ยงควาย จำนวนมากนับ 1,000 ตัว ชาวบ้านต้องต้อนควายขึ้นไปเลี้ยงบนเกาะกลางน้ำเป็นที่สูง เนื่องจากไม่สามารถปล่อยหากินตามธรรมชาติได้ ต้องแบกภาระดูแล จัดหาฟางแห้งอัดก้อน จนกว่าน้ำจะลด พบว่า บางรายต้องแบกภาระซื้อฟางแห้งอัดก้อน วันละกว่า 1,000 บาท คาดว่าหากระดับน้ำไม่ลด จะต้องแบกภาระเดือนละ 10,000 – 20,000 บาท อีกทั้งราคาฟางแห้งอัดก้อน ยังมีราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากราคาก้อนละ 15 -20 บาท เพิ่มเป็น ก้อนละ 40 -50 บาท เบื้องต้นภาครัฐ นำฟางแห้งอัดก้อนมาสนับสนุน แจกจ่าย แต่ยังไม่เพียงพอ

ลุงทองคำ อายุ 55 ปี เกษตรกร ชาวบ้าน ท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม บอกว่า พื้นที่บ้านท่าบ่อเป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากที่ตั้งติดกับลำน้ำสงคราม ปัจจัยหลัก คือ หากน้ำโขงสูงหนุนลำน้ำอูน ที่ไหลมาสมทบกับลำน้ำสงคราม จะเกิดปัญหาเอ่อล้น ท่วมพื้นที่การเกษตร นาข้าว โดยชาวบ้านจะปลูกข้าวนาปี แบบวัดดวงทุกปี หากน้ำไม่ท่วม จะได้ผลผลิต หากน้ำท่วม หวังแค่ค่าชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ ที่สำคัญพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ได้รับผลกระทบหนัก ถูกน้ำท่วมหมด  ถือเป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงควาย จำนวนมาก ต้องต้อนควายไปเลี้ยงไว้บนเกาะไก่แก้ว ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องจัดหาซื้อฟางก้อนอัดแห้ง ไปเลี้ยงจนกว่าน้ำโขงจะลด ต้องแบกภารค่าใช้จ่ายจัดซื้อ ช่วงนี้ราคาแพง เท่าตัว ก้อนละ 40 -50 บาท ตนดูแลควาย ประมาณ 15 ตัว ต้องใช้เงินวันละ 1,000 บาท แค่พอให้ฟางก้อนกินประทังชีวิต รอน้ำลด บางรายควายเลี้ยงหลายตัวยิ่งหนัก แบกภาระเดือนละ 20,000 -30,000 บาท จนกว่าน้ำจะลด ส่วนสัตว์เลี้ยงการเกษตรต้องเคลื่อนขึ้นที่สูงเช่นกัน ฝากหน่วยงานรัฐมาสนับสนุนช่วยเหลือฟางแห้งอัดก้อนอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่า หมู่บ้านเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่เป็นวิถีชีวิต อาศัยมาแต่บรรพบุรุษ บางปีไม่ได้รับผลกระทบ หากน้ำโขงไม่สูง ปีนี้ถือว่าน้ำโขงมาเร็วมาก เพราะน้ำท่วมภาคเหนือ

ข่าว/ภาพ : พัฒนพงษ์ ศรีเพียชัย ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครพนม