นักวิชาการรุมชำแหละ กมธ.สภาฯจ่อปล่อยผีบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย แฉตั้ง กมธ.2 คนเอี่ยวโยงธุรกิจบุหรี่ยักษ์ใหญ่ร่วมเป็นคณะ กมธ.ส่อผิดอนุสัญญา UN ปลุกสังคมร่วมปกป้องเยาวชนพ้นจากมหัตภัยร้ายบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2567 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ได้จัด การเสวนาสื่อเรื่อง “ชำแหละ รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะทราบถึง กระบวนการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ ความไม่ชอบมาพากลของรายงาน และความไม่ชอบธรรมขององค์ประกอบคณะกรรมาธิการฯ จากกรณีที่คณะกรรมาธิการฯให้ข่าวว่ามีการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไว้ 3 แนวทางได้แก่ 1.กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย 2.ให้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย และ 3.ให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทถูกกฎหมาย ที่โรงแรมเดอ ไพร์ม รางน้ำ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้มีความผิดปกติตั้งแต่องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการฯ ที่เคยถูกทักท้วงจากกลุ่มนักวิชาการ และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 2 คนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯ โดยมีหลักฐานว่าคนหนึ่งเคยเป็นบอร์ดบริหารองค์กรนานาชาติแห่งหนึ่งที่รับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ และร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายต่างประเทศที่รับเงินจากบริษัทบุหรี่อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ที่ผ่านมามีการวิ่งเต้นผ่านการเมือง และสื่อสารสาธารณะเพื่อต้องการให้ยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าของไทยตั้งแต่ปี 2560 อีกทั้งยังเคยถูกเครือข่ายควบคุมยาสูบเคยยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องกระทำผิดจริยธรรมตามข้อบังคับของสภาฯ จากกรณีไปปรากฏตัวในสื่อออนไลน์ของร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมประกาศว่าจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
“การที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่เข้าไปร่วมกำหนดนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าผิดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบโลกมาตรา 5.3 ซึ่งจะส่งผลให้รายงานของคณะกรรมาธิการฯนี้ ขาดความน่าเชื่อถือ ส่อที่จะโน้มเอียงไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ ซึ่งการที่คณะกรรมาธิการฯ ตั้งธงไว้ 3 แนวทางก็ค่อนข้างชัดเจนว่า 2 ใน 3 ทางเลือกคือต้องการยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสวนกระแสโลกที่ภายในเวลา 2 ปีที่ผ่านมามีประเทศที่ออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 9 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ปาเลา บราซิล คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ มัลดีฟส์ และล่าสุดเวียดนาม เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายก็เริ่มเปลี่ยนมาแบนบุหรี่ไฟฟ้า เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียมที่ประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งด้วย”รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า รายงานของคณะกรรมาธิการฯ ควรตอบสังคมให้ได้ว่าหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะมีมาตรการควบคุมอย่างไรไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ กรณีบุหรี่มวนที่อนุญาตให้ขายได้ถูกกฎหมาย รัฐบาลก็ยังควบคุมได้ไม่ดีพอ มีบุหรี่มวนลักลอบขายผิดกฎหมายถึงร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้ง ตัวอย่างในอังกฤษ ซึ่งอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมาย แต่ห้ามขายในเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ยังมีการระบาดในเยาวชนถึง 25 % เปรียบเทียบงบประมาณทั้งคนและเงินที่อังกฤษทุ่มเทประสิทธิภาพในการควบคุม และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ประเทศไทยไม่สามารถเทียบได้เลย ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ ดังนั้นหากเปิดให้ขายถูกกฎหมาย คาดเดาได้ว่าจะต้องระบาดสูงกว่าอังกฤษแน่นอน
นอกจากนี้ หากยกเลิกการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องเพิ่มงบประมาณในการควบคุมมหาศาล ได้แก่ 1.ควบคุมเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ใช้เลิกบุหรี่ 2.ควบคุมส่วนประกอบ เช่น สารปรุงแต่ง 3.ควบคุมเป็นสารพิษ 4.ควบคุมเหมือนผลิตภัณฑ์เฉพาะ (disposable) เป็นต้น จะต้องเพิ่มหน่วยงาน เพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เพิ่มเครื่องมือทางห้อปฏิบัติการในการตรวจจับสาร ซึ่งมีราคาแพงมากต้องใช้งบประมาณสูงมาก ดังนั้นองค์กร THE UNION ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องสุขภาพปอดของประชาคมโลกในปี พ.ศ.2563 จึงมีข้อแนะนำว่า ผู้กำหนดนโยบายของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลางรวมทั้งประเทศไทยควรยอมรับ “หลักการป้องกันไว้ก่อน” จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการป้องกัน คือ การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และ HTP (Heat Tobacco Product) ในกลุ่มประเทศเหล่านี้
ขณะที่ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านภาษียาสูบ กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ ยกเอาประเด็นเศรษฐกิจมาเป็นข้ออ้างอันหนึ่งที่จะยกเอาบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดิน โดยบอกว่ารายรับภาษีจะเพิ่มขึ้น ข้ออ้างนี้ยังมีข้อโต้แย้งอยู่มาก ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 1.ความเป็นสินค้าทดแทน คนสูบบุหรี่มวน (หน้าเก่า) เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้สูบเพิ่มขึ้น หากจะเก็บภาษีได้เพิ่ม ต้องแลกด้วยการเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ให้มากขึ้น
2.ภาษีบุหรี่ไฟฟ้าต้องสูงกว่าภาษีบุหรี่มวน ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะถูกคัดค้านจากบริษัทบุหรี่ ที่มักอ้างว่าปลอดภัยกว่าและต้องการจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่มวนเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.กรณีบางพรรคการเมืองเสนอให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้เฉพาะที่ไม่มีกลิ่นรส แต่ความจริงคือเด็กและเยาวชนถึงกว่า 90 % สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีกลิ่นรส ดังนั้นแม้คณะกรรมาธิการฯจะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ก็จะไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้เพราะยังจะพบการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดกลิ่นรสแบบผิดกฎหมายให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเก็บภาษีไม่ได้ และ 4.มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่าภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากความเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าถึง 1,500 เท่า ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดกับสุขภาพเด็กและเยาวชน
ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ยาสูบเป็นหนึ่งในสี่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Commercial Determinants of Health) ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จึงมีการขับเคลื่อนให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ภาระการรักษาพยาบาลของผู้สูบยาสูบ เป็นภาระของรัฐบาล จากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ การที่มีการอ้างว่าการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการละเมิดสิทธิผู้สูบจึงไม่ถูกต้อง
“บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ จึงไม่ใช่สินค้าปกติที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่เหนือสิทธิการดูแลสุขภาพซึ่งสำคัญกว่า อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้ามีผลเรื่องบุหรี่มือสองมือสามกระทบบุคคลต่อรอบข้างโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนและรัฐบาลไทยที่จำเป็นจะต้องตระหนักถึงสิทธิของเด็ก โดยรัฐมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้เป็นเหยื่อของบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ คือสิทธิเด็กที่จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง จากสารเสพติดต่างๆ” ศ.ดร.นิทัศน์ กล่าว