เราจะเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรฐกิจและสังคม เป็นข้อความบางช่วงบางตอน จากคำแถลงนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” จังหวัดนราธิวาส ตามคำเชิญของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประชาชน-ลูกหนี้ กยศ. เข้าร่วมงานกว่า 2,000 ราย
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จังหวัดนราธิวาส ว่า เมื่อเวลา 12.20 น. ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” โดย กระทรวงยุติธรรม ตามคำเชิญของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ณ ลานพิกุล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส และพบปะนักศึกษาและผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมงานฯ กว่า 2,000 คน โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน (ศอ.บต.), ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, แม่ทัพภาคที่ 4, อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม, อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, หัวหน้าหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้, องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้, คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมให้การต้อนรับ โดยมีการถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ของกรมประชาสัมพันธ์ ด้วย ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” จังหวัดนราธิวาส แล้ว ยังมีกำหนดการร่วมกันในการตรวจติดตามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรมพบปะผู้นำศาสนา และนักเรียนโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา ในช่วงบ่ายด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” โดยกระทรวงยุติธรรม จังหวัดนราธิวาส ในวันนี้ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงยุติธรรม ภายใต้การนำของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดย กรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมกันเชิญชวนลูกหนี้ กยศ. เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดย ลูกหนี้ กยศ. ที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ การปลดภาระผู้ค้ำประกัน, ขยายการผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 15 ปี ชำระเสร็จตามสัญญาลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 ดอกเบี้ยร้อยละ 1 เบี้ยปรับร้อยละ 0.5 ส่วนกรณีผู้กู้ยืมที่ถูกบังคับคดี กยศ. จะงดการบังคับคดี และผู้ค้ำประกันถูกบังคับคดี กยศ. จะถอนการบังคับคดี และจากผลการดำเนินงานภาพรวมในปี 2567 ลูกหนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้เข้าร่วมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 33,123 ราย ทำให้งานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ฯ สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน, หนี้ กยศ. และเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งช่วยยุติปัญหาได้โดย ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาล และเพื่อให้ผู้กู้ยืมสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้อย่างต่อเนื่องจนหมด
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ในนามของรัฐบาลขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ ในวันนี้ ถือเป็นการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติก่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบายเร่งด่วน ข้อแรกที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตน้อยกว่าศักยภาพที่มีอยู่จริง อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที เราจะเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอฝากไปยังท่านเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหารือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไร ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องเดินทางมายังจังหวัด อาจจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือ AI เขามาช่วย หรือมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด เป็นหน่วยรับเรื่องเพื่อปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ได้ อีกทั้ง จะได้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการที่จะนำไปปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น ๆ เช่น กลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน”
ทางด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน (ศอ.บต.) กล่าวว่า ในนามข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ ศอ.บต. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน ทั้งที่เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ นักศึกษาเรียนจบมายังไม่มีงานทำก็มีหนี้ติดตัวแล้ว หลายคนรายได้ไม่พอกับรายจ่าย รวมไปถึงผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ถือเป็นหนี้ลำดับต้นๆ ของพื้นที่ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี และทรัพย์โดยส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาขายทอดตลาดนั้นเป็นทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน สะท้อนให้เห็นถึงข้อพิพาททางแพ่งที่เป็นปัญหาของพื้นที่
การจัดมหกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ที่ยังไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ได้มาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะส่งผลให้สัญญาเป็นไปตามกฎหมายใหม่ คำนวณอัตราดอกเบี้ยใหม่ ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ขยายระยะเวลาผ่อนชำระเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะพักแขวนไว้ ไม่เอามารวมในสัญญาเป็นทุนทรัพย์ จะคำนวนเฉพาะดอกเบี้ยและเงินต้นคงเหลือ ถ้าผ่อนหมดเบี้ยปรับที่พักแขวนเอาไว้จะยกให้ ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญากู้ยืม รวมถึงลูกหนี้ที่เคยชำระหนี้มาก่อนทั้งตรงตามงวดหรือผิดนัดชำระหนี้ ก็จะนำยอดหนี้ทั้งหมดมาคำนวณใหม่คำนวณย้อนหลังให้ โดยคำนวณเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี ลดเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมากในการแก้ไขโครงสร้างหนี้ ลดภาระรายจ่าย ทำให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประชาชน มีอยู่ มีกิน มีใช้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล“ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน (ศอ.บต.) กล่าว
โดย…แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส