ข่าวเด่น » วช. หนุนนักวิจัย ม.นครพนม ถ่ายทอดนวัตกรรมอาหารสัตว์ “กากมันหมักยีสต์ และผลิตปลายข้าวเทียม”

วช. หนุนนักวิจัย ม.นครพนม ถ่ายทอดนวัตกรรมอาหารสัตว์ “กากมันหมักยีสต์ และผลิตปลายข้าวเทียม”

31 พฤษภาคม 2021
448   0

ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

(อว.) สนับสนุนทุนวิจัย แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนพัฒน์ สุระนรากุล และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยนครพนม ถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้กากมันสำปะหลังหมักยีสต์ และการผลิตปลายข้าวเทียม เป็นแหล่งอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและผลิตผลเกษตรที่เหลือใช้ สร้างความมั่นคงทางอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี

จากปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ การหาจุดคุ้มทุน การผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เองภายในครัวเรือน หรือภายในกลุ่ม และต้นทุนการผลิตที่ไม่แน่นอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนพัฒน์ สุระนรากุล แห่งสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม และคณะ
เห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ผลงานวิจัย และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ มาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยให้พุ่งเป้าไปที่การถ่ายทอดการพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ จากการใช้วัตถุดิบเหลือใช้ที่มีอยู่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตอาหารให้กับสัตว์ในชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนพัฒน์ สุระนรากุล เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร และมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นต้น มีการจัดทำคู่มือการเลี้ยงสัตว์ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เครือข่ายและเกษตรกรที่สนใจอีกด้วย ตามหลักวิธีการปฏิบัติแบบต้นน้ำ (การผลิต) กลางน้ำ (แปรรูป) และปลายน้ำ (การตลาด) ถือว่าเป็นแผนการพัฒนาเพื่อสร้างสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกใหม่ สร้างทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรและชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารสัตว์ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมรากฐานการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น

โดยพัฒนาให้สัตว์ได้รับโภชนะทางอาหารจากยีสต์ โดยใช้กากมันสำปะหลังหรือเปลือกล้างของมันสำปะหลัง มาผ่านการหมักร่วมกับ น้ำตาลทรายแดง กากน้ำตาล ปุ๋ยยูเรีย ยีสต์ขนมปัง และน้ำ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารเสริม แทนข้าวโพด หรือรำข้าว ในการผลิตเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากกากมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เหลือทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และมีราคาที่ถูก ประมาณ 300-500 บาท /ตัน สามารถใช้เป็นวัตถุดิบได้ทุกชนิดของอาหารสัตว์ โดยวิธีการการนำมาใช้กับสัตว์ประเภทต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกัน คือ กลุ่มสัตว์ใหญ่ ต้องใช้กากมันที่ผ่านการหมักตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป – 90 วัน และกลุ่มสัตว์ปีกและสุกร จะใช้กากมันที่ผ่านการหมัก ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป – 90 วัน โดยควรใช้กับสัตว์ระยะรุ่น ระยะขุน และระยะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หากเสริมอาหารผสมเข้าไปร้อยละ 30 ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ได้มาก เฉลี่ย 15.2 บาท/กก. เมื่อเทียบกับต้นทุนอาหารแบบสำเร็จรูป

นอกจากนี้ยังมีการผลิตนวัตกรรมปลายข้าวเทียม (ปลายข้าววิทยาศาสตร์) เพื่อใช้เสริม หรือแทนการใช้ปลายข้าว หรือข้าวโพด ในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีโภชนะเทียบเท่ากัน แต่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า อยู่ที่ 7.84 บาท/กก. เปรียบเทียบจากราคาข้าวโพดที่อยู่ที่ 11.35 บาท/กก. และปลายข้าวอยู่ที่ 13.24 บาท/กก. อีกทั้งปลายข้าวเทียมนี้ยังเข้าไปแก้ไขข้อบกพร่องของมันสำปะหลังได้ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปชนิดใหม่ ที่ผู้เลี้ยงสามารถนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับสูตรอาหารที่ใช้ เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในภาวะขาดแคลนวัตถุดิบดั้งเดิม หรือผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้ขายผลผลิตได้มากขึ้น

“ชาวบ้านผู้เลี้ยงสัตว์ มีความพึงพอใจอย่างมาก กับการนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ เนื่องจากไม่เคยได้รับการถ่ายทอดหรือแนะนำจากผู้ประกอบการอาหารสัตว์ เมื่อมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ จึงสามารถทำให้สัตว์ได้รับโภชนาการและเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถทำเองได้ง่าย ต้นทุนต่ำกว่าเดิม ตอนนี้คณะนักวิจัยได้ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังปศุสัตว์จังหวัดนครพนม และขอผสานความร่วมมือกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)ในการขยายผลองค์ความรู้ต่อไปยังเขตพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด มุกดาหารและยโสธร” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนพัฒน์ สุระนรากุล กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน ปราชญ์ชุมชน ปราชญ์เพื่อความมั่นคงและประชาชน ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน สร้างฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ