นครราชสีมา –อุตสาหกรรมกัญชาไทยเผชิญปัญหาผลิตภัณฑ์ล้นตลาด หนุ่มโคราชผันตัวจากวิสาหกิจชุมชน สู่บริษัทผลิตกัญชาส่งออก โดยใช้เทคโนโลยี Aeroponic เพิ่มคุณภาพและมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศในยุโรป ซึ่งมีความต้องการสูง
อุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาราคาผลิตภัณฑ์ตกต่ำอย่างหนัก เนื่องจากการผลิตที่ล้นตลาดทำให้ราคาช่อดอกกัญชาแห้งตกลงเหลือเพียงกิโลกรัมละไม่ถึง 2,000 บาท ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศ ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตบางรายได้หันมาใช้เทคโนโลยีการปลูกแบบใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์กัญชา โดยเฉพาะการปลูกในระบบ Aeroponic ที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงจนสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ

เช่นบริษัท โอเรียนทอล แพลนเทชั่น จำกัด ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้ระบบ Aeroponic ในการปลูกกัญชาในระบบปิด 100% สามารถผลิตกัญชาที่มีคุณภาพสูงและตรงตามมาตรฐานการส่งออกสู่ตลาดยุโรปและออสเตรเลีย ทำให้สามารถขายกัญชาในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากราคาต่ำในตลาดภายในประเทศที่ไม่ถึง 2,000 บาท โดยขณะนี้มีออร์เดอร์จากประเทศออสเตรเลีย และเยอรมนี สั่งเข้ามาแล้ว เตรียมส่งมอบสินค้าล็อตแรกในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน
นายอภิบาล ศรียาภัย ผู้บริหารของบริษัทฯ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยี Aeroponic ในการปลูกกัญชาทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสากลและมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศที่มีความเข้มงวดด้านคุณภาพและมาตรฐาน

ตลาดกัญชาในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี ที่เป็นผู้บริโภคกัญชาทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดในยุโรป กำลังเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทไทยในการขยายการส่งออก อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้มีการแข่งขันสูง และบริษัทไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของสถานการณ์ภายในประเทศ การปลูกกัญชายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านกฎหมาย แม้จะมีการเปิดเสรีบางส่วนในการปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่การควบคุมยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาผลิตภัณฑ์ล้นตลาดในประเทศหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรับมือกับปัญหานี้ นายอภิบาลฯ เสนอว่า การส่งออกเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายการปลูกกัญชาเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย และร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาการผลิตที่มีคุณภาพสูงและมีความยั่งยืนในระยะยาว
การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการปลูกกัญชาเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมกัญชาไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ความสำเร็จในระยะยาวยังคงขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐและการปรับตัวของบริษัทไทยต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา