“ความเหลื่อมล้ำ” คือ ความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทและกลุ่มเปราะบาง
ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นปัญหาอยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนานเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาระดับประเทศ อย่างปัญหาหนี้สิ้น ซึ่งคนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่มักถูกมองว่า เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือการขาดวินัยทางการเงินที่ดี แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้จากความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ บางรายต้องแบกรับภาระครอบครัว หรือเป็นหนี้จากความเจ็บป่วย และอุบัติเหตุกะทันหันที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มาซ้ำเติมให้ปัญหาหนี้สินยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ผลจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ยังพบว่ามีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประชาชนในชนบท
ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการเงินทุนในการเลี้ยงชีพแต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กองทุนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน สามารถกู้ยืมเงินมาลงทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยมี “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” เป็นองค์กรในการบูรณาการกองทุนชุมชน ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่มาจากตัวแทนของกลุ่ม องค์กรการเงินต่าง ๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนที่เป็นหนี้ซ้ำซ้อนกันหลายสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถลดหนี้ และปลดหนี้ได้ในที่สุด ซึ่งผลการดำเนินงานของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่ผ่านมา ในช่วงปี 2560 – 2562 สามารถบริหารจัดการหนี้ให้กับครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา จำนวน 45,873 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.77 ของครัวเรือน สามารถลดและปลดหนี้ได้ถึง 871,827,496 บาท
การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน โดยศูนย์จัดการกองทุนชุมชนนี้
จึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับความเข้มแข็งของคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่สามารถบูรณาการการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ทำให้การขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาและทักษะในการพัฒนาอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการให้ทันสมัย นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการหนี้ของครัวเรือนให้หมดไปได้ สอดคล้องกับหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริหาร ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรสำนักพัฒนาทุน และองค์กรการเงินชุมชน คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชน และชาวพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด อำเภอ ที่เพียรพยายาม ตั้งใจเพื่อพี่น้องประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน