สร้างนวัตกรรมคัดแยกขยะชุมชน สู่พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. เผยผลสำเร็จโครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! เปิดตัว 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า ผ่านการนำร่อง 4 พื้นที่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต คาดพัฒนาสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมปลอดขยะ
ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เปิดตัว 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า บนพื้นฐานของการศึกษาพฤติกรรมผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชนในจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องการจัดการขยะให้ได้คุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนต่อไป
“กกพ. ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy และสนับสนุนนโยบายรัฐที่จะก้าวไปสู่สังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในปี 2561 เผยว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยสูงถึง 27.8 ล้านตัน แต่พบว่ายังมีขยะ 7.3 ล้านตันหรือ 27% ที่ยังกำจัดไม่ถูกวิธี ประกอบกับส่วนหนึ่งประชาชนยังขาดความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้กำจัดขยะยังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โครงการ Wonder Waste! จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์รูปแบบหรือนวัตกรรมการคัดแยกขยะใหม่ ๆ ที่ชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปสู่การใช้งานได้จริง และเพิ่มทางเลือกในการผลิตเชื้อเพลิง” ดร.บัณฑูรกล่าว
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “CEA เป็นหน่วยงานที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ที่ประกอบด้วยบุคลากรสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงาน สมาคมต่าง ๆ ซึ่งการเชื่อมโยงกันระหว่างทุกภาคส่วน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนและเมือง
โครงการ Wonder Waste! นำเสนอแพลตฟอร์มจัดการขยะครัวเรือนและชุมชน ผ่านการนำเสนอต้นแบบ 4 นวัตกรรมที่เกิดจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้เพื่อการระดมความคิดเห็นและแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ร่วม (co-create) กับประชาชนในพื้นที่ ในการพัฒนาสู่แนวคิดในการคัดแยกขยะ ให้เป็น 4 แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันตามบริบทการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ที่พร้อมขยายผลไปสู่องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจนำไปแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไปทดลองและปฏิบัติใช้ได้ เพื่อรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะที่มีคุณภาพ สำหรับการนำไปกำจัดหรือทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
สำหรับเนื้อหาและแพลตฟอร์มแยกขยะ ประกอบด้วย 4 ต้นแบบ ดังนี้
- PowerPick
พัฒนาโดย : บริษัท ขอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
พื้นที่ติดตั้ง : ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด ถนนมหาพฤฒาราม บางรัก กรุงเทพฯ
แพลตฟอร์มที่มีแนวคิดแก้ไขปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นหลังบริโภคจากฟู้ดเดลิเวอรี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up ที่มีบริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิลด้วยตู้อัตโนมัติ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อม Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพ็กขยะ สู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พร้อมใช้จักรยานเพาเวอร์พิกไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick WtE eBike บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ผ่านแอปพลิเคชันในการกำหนดเวลารับขยะถึงที่ - care4
พัฒนาโดย : พิเศษ วีรังคบุตร และทีมงาน
พื้นที่ติดตั้ง : หมู่บ้านจิตรณรงค์ 21 ใกล้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กรุงเทพฯ
แพลตฟอร์มระบบเก็บขยะเพื่อส่งเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะ ด้วยวิศวกรรมและการออกแบบ มาใช้ร่วมกับระบบคัดแยกเพื่อทำให้การเผาขยะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการปรับปรุงคุณภาพขยะ
และลดขั้นตอนการคัดแยกให้มีความซับซ้อนน้อยลง ด้วยกระบวนการแยกขยะ – รับขยะ – พักขยะ – ส่งขยะ สำหรับการแยกขยะ จะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้านพร้อมเอกสารแนะนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการคัดแยก มีการรับขยะถึงหน้าบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในพื้นที่ โดยมีจักรยานเข้าไปรับขยะมาจัดการตามแต่ชนิดของขยะ และการพักขยะโดยการลดความชื้นด้วย Solar Waste Dryer ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครต่อไป
- บุญบุญ
พัฒนาโดย : FabCafe Bangkok
พื้นที่ติดตั้ง : พื้นที่ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น
หุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่สร้างแรงจูงใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่นำเทคโนโลยี Delivery Robot ด้วยการนำถังขยะมาหาคน ให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูล (Information Agent) และความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ ประกอบด้วยหุ่นยนต์แมวใช้ภายในร้านคาเฟ่ ‘บุญเล็ก’ ที่วิ่งไปรับบริจาค ขยะที่ใช้ภายในร้านค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะ แก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และหุ่นยนต์แมวใช้ภายนอก ‘บุญใหญ่’ ที่รับขยะจากร้านค้าที่มีการคัดแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระบบ Line Official โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งมีการต่อยอดด้วยการจัดแคมเปญ Activity Waste Information ร่วมกับพื้นที่อีกด้วย - BABA Waste
พัฒนาโดย : วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ และทีมงานอาร์ ดี เอ็ม สตราติจีส
พื้นที่ติดตั้ง : พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต
แพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน โดยใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง (ครัวเรือน ร้านค้า) – กลางทาง (คนเก็บขยะ) – ปลายทาง (ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัด ภูเก็ต) พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการจัดการที่สมบูรณ์และความยั่งยืน ประกอบด้วย BABABIN ถังขยะสำหรับใช้ภายในคาเฟ่หรือบ้านเรือน และสำหรับใช้ภายนอก BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลผลงานในการจัดแสดง Wonder Waste! Showcase
ได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 ธันวาคม 2564
สถานที่ : ห้อง Material & Design Innovation Center ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ
วัน – เวลา : 10.30 – 19.00 น.
เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย* (ติดต่อรับสัญลักษณ์เข้าพื้นที่ที่ Info Guru Counter ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ)
เกี่ยวกับ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) : CEA หน่วยงานเฉพาะด้านที่ทําหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโต และการส่งเสริมให้ภาคการผลิตนําความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นําไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจและของประเทศ
เลขที่ 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร : 0-2105-7400เว็บไซต์ : cea.or.th และ tcdc.or.th
เกี่ยวกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. หน่วยงานกำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมและเป็นธรรม ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลพลังงานของประเทศด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสในด้านอัตราค่าบริการ คุณภาพและการให้บริการ ส่งเสริมการแข่งขันในการจัดหาพลังงาน สร้างความมั่นคง พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานและประสิทธิภาพกิจการพลังงานให้ได้มาตรฐาน เกิดความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าถึง สร้างความเข้าใจ และมีส่วนร่วมพัฒนาพลังงานของประเทศ
เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร : 0-2207-3599 Call Center : 1204 อีเมล : support@erc.or.th
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : ธนภรณ์ ไชยฤกษ์ สำนักสื่อสารและการตลาด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) โทร 02 105 7400 #172 อีเมล : Tanapond.c@cea.or.th อรทัย พวงพูล บริษัท มาเธอร์ ครีเอชั่น จำกัด โทร 0 2650 1192 #111 อีเมล์ : mother_cc@hotmail.com