มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.)จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน การเสวนา “ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ การศึกษาที่ตอบโจทย์”

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศูนย์ปฏิบัติการการโรงแรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) ได้จัดการเสวนาเรื่อง “ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ การศึกษาที่ตอบโจทย์” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำโดย รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติและรองประธานกรรมาธิการการศึกษา ได้นำเสนอสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิรูประบบการศึกษาให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของประเทศ

ภาคเอกชนนำโดย คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้เน้นย้ำถึงคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการต้องการจากบุคลากร ทั้งในมุมมองของ SME และบริษัทมหาชน พร้อมให้มุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และ ผอ.ณัฐิกา นิตยาพร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สภาการศึกษา ได้วิเคราะห์ภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ ว่าสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้อย่างไร

ด้านการศึกษา อาจารย์ ดร.รัชชัย ศรสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร และดร.ณัฐวรินธร บวรภัควุฒิสิริที่ปรึกษากรรมาธิการศึกษา พร้อมครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพผู้เรียนที่ไม่กระทบโครงสร้างหลัก และนายเตชทัต หล้าหิบ หัวหน้าโครงการพิเศษ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ได้สะท้อนมุมมองจากห้องเรียนสู่การร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งครูและผู้เรียน

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.กมลมาลย์ ไชยศิริธัญญา คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาในการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ได้นำเสนอแนวทางการปรับตัวของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา เพื่อรองรับทิศทางการศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่

การเสวนาในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยมุ่งหวังให้ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ