นครราชสีมา – หน่วยงานภาครัฐและเอกชนชวนคอทุเรียนร่วมงาน “ทุเรียนต้นน้ำมูลโคราช @ครบุรี ครั้งที่ 2” 29 – 30 มิ.ย.นี้ ไม่สนภัยแล้งทุเรียนหายาก ขนทุเรียนครบุรีแท้ 150 ตันมาให้จุใจ เริ่มต้นโลละ 150 บาท

ที่สวนทุเรียนสอนสวัสดิ์ ต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา นายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี พร้อมด้วย นายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอครบุ , นายสุชชัพ ชีระชลสุข ส.อบจ.นครราชสีมา อำเภอครบุรี เขต 2 และนายอนันต์ ช่องป่า ประธานชมรมผู้ปลูกทุเรียนอำเภอครบุรี ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “ทุเรียนต้นน้ำมูลโคราช @ครบุรี” ครั้งที่ 2 ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกับ อำเภอครบุรี , สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี และชมรมผู้ปลูกทุเรียนอำเภอครบุรี จัดงานนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2567 ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของอำเภอครบุรี โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการเกษตร รวมทั้ง การท่องเที่ยวของอำเภอครบุรีและจังหวัดนครราชสีมาได้อย่างแพร่หลาย นำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชาวอำเภอครบุรีให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ภายในงานจะจัดการประกวดผลผลิตทุเรียนคุณภาพ การประมูลผลทุเรียน การจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร ตลอดจน การแสดงบนเวทีตลอดงาน นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุเรียนครบุรีแท้ๆจากสวน มาวางจำหน่ายในงานกว่า 150 ตัน ในราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 150 บาท เพื่อโชว์คุณภาพให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองด้วย ซึ่งจะเริ่มวางจำหน่าย ที่สนามที่ว่าการอำเภอครบุรี ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

นายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี กล่าวว่า อำเภอครบุรี มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,748 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,150,000 ไร่ มีป่าไม้ที่สำคัญ อย่างอุทยานแห่งชาติทับลาน และป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อนลำแชะและเขื่อนมูลบน ถือเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำมูล อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ อาทิ มันสำปะหลัง 180,000 ไร่ อ้อยโรงงาน 3,700 ไร่ และนาข้าว 69,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มปรับเปลี่ยนหันมาปลูกไม้ผลกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหลายพื้นที่มีดิน น้ำ และสภาพอากาศที่เหมาะสม ล่าสุด มีเกษตรกรหันมาเพาะปลูกไม้ผลแล้ว รวมกว่า 6,000 ไร่ โดยเฉพาะทุเรียนที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากทุเรียนครบุรีมีเอกลักษณ์พิเศษ เปลือกบาง เนื้อแน่น กลิ่นไม่ฉุน และรสชาติดี จึงได้กระแสตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางอำเภอครบุรี จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชน จัดงาน “ทุเรียนต้นน้ำมูลโคราช @ครบุรี” เป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ทุเรียนครบุรีเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกร เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ผลิตได้มีโอกาสพบปะซื้อขายกันโดยตรง เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อันจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับสินค้าการเกษตรอย่างอื่นเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

ด้านนายสุชชัพ ชีระชลสุข สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา อำเภอครบุรี เขต 2 เปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำการเกษตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ ที่มีผลผลิตสำคัญอย่างมันสำปะหลัง จนได้ชื่อว่า เป็นเมืองหลวงของการเพาะปลูกมันสำปะหลัง รวมถึง อ้อย ข้าวโพด และนาข้าว ที่สร้างเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดและประเทศอย่างมหาศาลทุกปี และด้วยศักยภาพ รวมถึงการยกระดับการพัฒนาเทคนิคด้านการเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ และภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดจนนำมาสู่การปลูกไม้ผล โดยเฉพาะทุเรียนที่กำลังประสบความสำเร็จ เดินหน้าต่อเนื่องไปได้ด้วยดี ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเพาะปลูก และทำรายได้เพิ่มมากขึ้น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และต้องการที่จะส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาของเกษตรกรให้เดินหน้าอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต จึงพร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือทุกด้าน ทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ส่วนนายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอครบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรอำเภอครบุรี มีการเพาะปลูกทุเรียนไปแล้วจำนวน 213 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ ล่าสุด ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 2,000 ไร่ สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 750-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่ ปีละไม่ต่ำกว่า 220 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรีได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเพิ่มศักยภาพการผลิต การสร้างมาตรฐาน คุณภาพและองค์ความรู้ด้านการผลิต ส่งเสริมการตลาด การสร้างการรวมกลุ่ม และเครือข่ายการตลาดทุเรียนต้นน้ำมูลตลอดจน การพัฒนามาตรฐานเพื่อการส่งออก อย่างเช่นปีนี้แม้ว่าการคาดการณ์ผลผลิตในพื้นที่อาจจะลดลงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด แต่ทางอำเภอก็ยังจัดงานในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานและวางแผนการประชาสัมพันธ์การตลาดให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และแนวทางส่งเสริมต่อเนื่องในอนาคตจะมีการร่วมมือขับเคลื่อน เพื่อขอการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมไปถึง การบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง การสร้างองค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับทุเรียนครบุรี ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้นด้วย .

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา