พร้อมกำหนดให้ “อินเทอร์เน็ต”
เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศเพื่อให้ ”ชนบท” เข้าถึงการเรียนสอนออนไลน์
รศ.ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ตนและเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง ทำการวิจัยเรื่อง “การปรับตัวของชุมชนวิถีใหม่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19” ในพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
โดยได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และการสนับสนุนจาก ทปอ.มรภ. ผลการวิจัยพบว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นวิถีชีวิตใหม่ ใน 5 ประเด็น ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ การศึกษา แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ดังกล่าว ยังมีการจ้างงานนักศึกษาเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มีการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโควิด จำนวน 8 เรื่อง ทำให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบาย มาตรการ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา รวมทั้งมีการจัดทำสื่อในรูปแบบต่างๆ จำนวน 76 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
รศ.ดร.ปาจรีย์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอจากผลการวิจัย พบว่า รัฐบาลควรมีแผนงานและแนวทางการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ชัดเจน โดยกำหนดให้อินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ขณะที่สถานศึกษาควร เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ครูอาจารย์ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ไม่แตกต่างจากการเรียนในสถานศึกษา ส่วนหน่วยงานระดับจังหวัดควรพัฒนาผู้นำชุมชนให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับประชาชนเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ให้แก่ภาคครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและสร้างรายได้ในพื้นที่อย่างเร่งด่วนในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย เป็นต้น