ข่าวเด่น » 9 มีนาคม วันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) กลไกของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดประชาชน

9 มีนาคม วันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) กลไกของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดประชาชน

15 มีนาคม 2021
1165   0

9 มีนาคม วันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) กลไกของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานและพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

9 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นวันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อสืบสานเกียรติภูมิความภาคภูมิใจในความเสียสละของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เป็นกลไกของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดกับประชาชน รู้ และเข้าถึงข้อมูล สภาพพื้นที่ ปัญหาและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านดีที่สุด

คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2486 ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาเพื่อให้การบริหารจัดการในหมู่บ้านสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคม กระทรวงมหาดไทย จึงได้ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้มีโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากกลุ่ม องค์กรในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมและกำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับกิจกรรมอันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านและทำหน้าที่บูรณาการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านให้มีเอกภาพ หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เหมือนดังคำที่ว่า “ประเทศต้องมีรัฐบาล หมู่บ้านต้องมี กม.”

เนื่องในวันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ประจำในปี พ.ศ. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของคณะกรรมการหมู่บ้าน ดังนี้ “การพัฒนาสังคมและประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากของประเทศ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน คณะกรรมการหมู่บ้านถือเป็นกลไกหลักในระดับพื้นที่ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน และขับเคลื่อนแผนงาน โครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่พี่น้องประชาชน ผมขอขอบคุณคณะกรรมการหมู่บ้านทุกท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ทำงานด้วยจิตสาธารณะ เพื่อการเข้าถึงและเข้าใจบริบทของการพัฒนาหมู่บ้านและขอให้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการบูรณาการการทำงานและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับทุกภาคส่วน ซึ่งจะขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่พี่น้องประชาชนทุกคนและสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงให้แก่หมู่บ้านตลอดไป”

ด้าน นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ได้เสริมถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายของกรมการปกครองซึ่งมุ่งประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ “ในปี 2564 กรมการปกครอง ได้กำหนด “10 โครงการสำคัญสู่การเป็นกรมการปกครองวิถีใหม่” (10 Flagships to DOPA New Normal 2021) ในการบริหารพัฒนาองค์กรเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด”หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงมหาดไทยและมีเป้าหมายในการพัฒนาหมู่บ้านโดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภารกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่หมู่บ้านอยู่เย็นตามแนวทางแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ผ่านหลักการ “บวร” หรือ “บรม” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของหมู่บ้าน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน”

กรมการปกครองได้จัดทำโครงการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2563 เพื่อสร้างแรงจูงใจ และให้รางวัลแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานให้แก่หมู่บ้านอื่น ๆ โดยการดำเนินการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับภาค

โดยผลการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2563 ระดับภาค ได้แก่

ภาคเหนือ

  • รางวัลชนะเลิศ บ้านฝั่งแวน หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านวังร่อง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านปางต้นฆ้อง หมู่ที่ 1 ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
  • รางวัลชมเชย บ้านท่ากระดังงา หมู่ที่ 3 ตำบลมหาโพธิ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์

ภาคกลาง

  • รางวัลชนะเลิศ บ้านหนองอ้อล่าง หมู่ที่ 9 ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านม้าร้อง หมู่ที่ 4 ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านหนองชุมเห็ด หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี
  • รางวัลชมเชย บ้านไผ่สี หมู่ที่ 2 ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
  • รางวัลชมเชย บ้านทหารเรือ หมู่ที่ 2 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
  • รางวัลชมเชย บ้านท่าสำโรง หมู่ที่ 1 ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

ภาคใต้

  • รางวัลชนะเลิศ บ้านนากลาง หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านตะปัง หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 3 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • รางวัลชนะเลิศ บ้านเทนมีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 11 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านนางาม หมู่ที่ 5 ตำบลศรีสำราญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ
  • รางวัลชมเชย บ้านท่าแร่ หมู่ที่ 1 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
  • รางวัลชมเชย บ้านห้วยหิน หมู่ที่ 3 ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม

บทบาทหน้าที่คณะกรรมการหมู่บ้าน

วันคณะกรรมการหมู่บ้าน

กม.

9มีนาคม