ข่าวต่างประเทศ » ไทยตื่นตัวเร่งสกัด เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สารเคมีพิษกว่า 100 ตู้จากแอลเบเนีย

ไทยตื่นตัวเร่งสกัด เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สารเคมีพิษกว่า 100 ตู้จากแอลเบเนีย

13 สิงหาคม 2024
282   0

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ NGO ด้านสิ่งแวดล้อม 3 แห่ง ได้แก่ เครือข่าย Basel Action Network (BAN) สหรัฐอเมริกา องค์กร Friends of the Earth ที่ประเทศแอฟริกาใต้ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือว่า EARTH ที่ประเทศไทย ได้ออกมาเรียกร้องทางการหลายประเทศให้มีการสกัดจับเรือขนสินค้า 2 ลำต้นทางจากแอลเบเนีย ขนขยะพิษจำนวน 816 ตัน ปลายทางมุ่งสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้

บาเซล แอคชั่น เน็ทเวิร์ค หรือ BAN ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบและติดตามการซื้อขายสารพิษ และก่อนหน้านี้ ได้แจ้งไปยังประเทศมาเลเซีย ให้ระวังและตื่นตัวกับการขนส่งของเสียที่เป็นสารพิษที่ผิดกฎหมาย ก่อนที่จะแจ้งมายังประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ระวังและตื่นตัวกับเรือขนส่งสินค้าดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีของเสียปนเปื้อนสารพิษประเภทฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตเหล็กด้วยเตาอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ

จากการติดตามเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า MAERSK CAMPTON ซึ่งบรรทุกสิ่งของที่เชื่อว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุขยะอันตรายประมาณ 327 ตัน ซึ่งมีกำหนดจะเทียบท่าที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่เรือกลับหายไปจากระบบเฝ้าระวังของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ซึ่งทางการแอฟริกาใต้ได้ออกดำเนินการค้นหาเรือลำดังกล่าวแต่ไม่พบ และกำลังเร่งตามหาพิกัดของเรือลำนี้อยู่

นอกจากนี้ BAN ยังระบุอีกว่า เรือลำนี้เป็นเรือลำแรกจากเรือทั้งหมดสองลำที่บรรทุกสารเคมีพิษในตู้คอนเทนเนอร์หลายร้อยตัน จากแอลเบเนียมายังประเทศไทยเป็นปลายทางสุดท้าย ขณะที่ข้อมูลติดตามการขนส่งสินค้าทางเรือของเว็บไซต์เอ็มเอสซี พบว่ามีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ขนาดความยาว 20 ฟุต จำนวน 40 ตู้ ลงที่ท่าเรือดูร์เรส (Durres) ประเทศแอลเบเนีย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อเดินทางมายังท่าเรือที่สิงคโปร์ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ต่อจากนั้นจะเดินทางต่อมายังท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ในวันที่ 20 สิงหาคม นอกจากนี้ยังมีตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสารพิษอีก 60 ตู้ ที่เดินทางมากับเรือ MAERSK CANDOR อีกลำ เพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มายังสิงคโปร์ด้วย

ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ประเทศไทย และชาติอื่นๆ ในอาเซียน กลายเป็นปลายทางของการทิ้งขยะสารพิษจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกสกปรกไปจนถึงของเสียทางอุตสาหกรรม และของเสียอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากมีการนำเข้ามาในพื้นที่ จะส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในภาคการเกษตร ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน จึงควรรีบดำเนินการสกัดการขนส่งเข้ามาอย่างเร่งด่วน