ข่าวสังคมทั่วไป » DNA ปลาหมอคางดำยังเคลือบแคลง ไทยนำเข้าจาก “กานา” ประเทศเดียวจริงหรือ?

DNA ปลาหมอคางดำยังเคลือบแคลง ไทยนำเข้าจาก “กานา” ประเทศเดียวจริงหรือ?

7 ตุลาคม 2024
125   0

แม้ว่าคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย (อนุ กมธ.อว.) ที่มี นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน และมีการแถลงผลการศึกษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ยืนยันว่า ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ที่พบระบาดในประเทศไทย พบเอกชน 1ราย นำเข้า-ต้นตอแหล่งเดียวกัน โดยอ้างถึงการเปรียบเทียบพันธุกรรมของปลาล่าสุดของกรมประมง

อย่างไรก็ตาม จากรายงานล่าสุดของกรมประมง ที่นำข้อมูลลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดใน 6 จังหวัดซึ่งเก็บอยู่ในธนาคารพันธุกรรมหรือ DNA Bank ของกรมฯ มาเทียบเคียงกับฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่างจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วง พ.ศ.2560-2564 อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับตัวอย่างข้อมูลทางพันธุกรรมที่มาจากประเทศกานาและโกตดิวัวร์

เมื่อผลออกมาว่า DNA ของปลาหมอคางดำมาจาก 2 ประเทศ เหตุใดอนุ กมธ.อว. จึงยืนยันกับสังคมว่ามีผู้นำเข้าเพียง 1 ราย และปลาหมอคางดำที่ระบาดในไทยมาจากกานา โดยไม่พูดถึงประเทศโกตดิวัวร์ ทั้งที่หลักฐานถูกพิสูจน์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และสามารถนำไปขยายความจริงได้มากกว่านี้ แต่คณะอนุกรรมาธิการทั้งคณะไม่มีผู้ใดตั้งข้อสังเกตหรือทักท้วงในประเด็นนี้เลย..ทั้งที่มีโอกาสสูงเช่นกันที่ปลาจะมาจากประเทศโกตดิวัวร์ การให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนจึงทำให้สังคมมีข้อสงสัย

ในวันที่ 24 กันยายน 2567 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ลำดับพันธุกรรม DNA ของตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับปลาหมอคางดำที่พบในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกา มีความใกล้เคียงกับที่พบในประเทศกานาและประเทศโกติวัวร์ (ไอวอรี่โคสต์) แต่ข้อมูลยังไม่มากเพียงพอที่จะฟันธงได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศกานาเพียงประเทศเดียว รวมถึงยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าปลาจะต้องมาจากบริษัทดังกล่าวบริษัทเดียวเท่านั้น เนื่องจากอาจมีบริษัทอื่นที่ลักลอบนำเข้าปลาจากทวีปแอฟริกาอีก แต่ไม่ได้แจ้งขออนุญาตก็เป็นไปได้

รศ.ดร.เจษฎา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าค่าเฉลี่ยความแตกต่างทางพันธุกรรม (Genetic distance) จากกลุ่มตัวอย่างของ 6 จังหวัดในไทย มีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจากตัวอย่างของแต่ละประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นอย่างมาก (0.0033 เทียบกับ 0.0078-0.035) และค่าความเชื่อมั่น (bootstrap) ในกิ่งย่อยๆ ของแผนภูมิต้นไม้ NJ tree (neighbor-joining tree) ระหว่าง กานา-โกตดิวัวร์-ไทย มีค่าต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถยืนยันคำตอบได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศกานาเท่านั้น

ช่วงเวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญของกรมประมงที่เคยทำการศึกษาวิจัยระยะห่างทางพันธุกรรม (Genetic Distance) ของกลุ่มประชากรปลาหมอคางดำ ถึง 2 ครั้ง ในปี 2563 (ด้วยวิธี Microsatellite DNA 5 ตำแหน่ง) และ 2565 (ด้วยวิธี Mitochondrial DNA ที่ตำแหน่ง D-loop) ควรออกมาแปลผลการศึกษาเปรียบเทียบพันธุกรรมล่าสุด ขยายความให้สังคมเข้าใจอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา เอาประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญปลาหมอคางดำที่นำมาตรวจสอบพันธุกรรมนี้เป็นการเปรียบเทียบกับตัวอย่างปลาที่กรมประมงเก็บไว้ในปี 2560 ไม่ใช่ตัวอย่างปลาที่บริษัทเอกชนนำเข้าในปี 2553 ซึ่งอาจจะมีผลต่อผลการศึกษาล่าสุด

นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังต้องการความกระจ่างจากกรณีการส่งออกปลาหมอคางดำช่วงปี 2556-2559 ของ 11 บริษัท มากกว่า 3 แสนตัว ไปยัง 17 ประเทศ เพราะมีแต่การยืนยันว่าเป็นการกรอกเอกสารผิดพลาดของบริษัทชิปปิ้ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกรมประมงให้ข้อมูลว่าพบความผิดพลาด 212 ครั้ง แต่กลับไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดให้ชัดเจนว่าปลาที่ส่งออกไปใช่หรือไม่ใช่ปลาหมอคางดำ และเหตุใดจึงกรอกผิดพลาดเหมือนกันหมด แต่กลับเชื่อตามที่ 5 บริษัทส่งออกมาชี้แจงกับอนุ กมธ. อว. เท่านั้น เห็นได้ว่าต่างจากการสืบหาต้นตอปลาหมอคางดำที่พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ต้นกำเนิดของปลาว่ามาจากประเทศอะไร เพราะมีหลักฐานการนำเข้าจากประเทศกานาเพียงประเทศเดียว สังคมจึงยังเคลือบแคลงใจแล้ว DNA ของปลาจากโกตดิวัวร์มาจากไหน? แม้ทั้ง 2 ประเทศจะอยู่ติดกันแต่ก็ห่างกันไม่น้อยกว่า 400-500 กิโลเมตร  บริษัทเอกชนคงไม่เพิ่มต้นทุนเพื่อไปนำเข้าปลาจากโกตดิวัวร์เพิ่มแน่นอน

กรณีปลาหมอคางดำ ต้องจับตาดูว่าจะอวสานอย่างไร แต่สิ่งสำคัญขณะนี้ คือ กรมประมงจะขับเคลื่อนให้แผนปฏิบัติการปราบปรามปลาได้อย่างเป็นระบบและเข้มแข็งได้นานเท่าไร เพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเดินหน้าต่อแผนระยะกลาง คือการปล่อยปลาผู้ล่าและใช้เทคโนโลยี e-DNA สำรวจความหนาแน่นของปลาในแหล่งน้ำ เพื่อวางแผนป้องกัน และระยะยาว คือ การเหนี่ยวนำทางพันธุกรรมทำให้ปลาไม่สามารถวางไข่ได้ หรือ ทำการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขสารพันธุกรรมของปลาแบบเฉพาะเจาะจง (Genome editing)

โดย : สินี ศรพระราม นักวิชาการอิสระ