เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของประเทศไทยครั้งนี้นับว่ารุนแรง และสร้างผลกระทบมหาศาลต่อพี่น้องประชาชน ความช่วยเหลือต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เพื่อร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาและเยียวยา ทั้งกองทัพไทย มูลนิธิกู้ภัย ห้างร้านเอกชน สื่อมวลชน คนดัง-เซเลป ล้วนระดมกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ อาหาร-น้ำดื่ม-เครื่องใช้ไม้สอยกันเต็มที่ จนถึงวันนี้ก็เรียกได้ว่าเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลาย บางจังหวัดเจอน้ำท่วมซ้ำสอง บางพื้นที่ปริมาณดินโคลนมากมายยังทับถมบ้านเรือนรอการฟื้นฟูให้เข้าสู่ภาวะปกติ และแม้จะมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่การวิเคราะห์และหาสาเหตุเชิงลึกเพื่อป้องกันภัยพิบัติในอนาคตก็เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเช่นกัน
สาเหตุของเภทภัยเหล่านี้เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นปัจจัยหลักที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ กรณีน้ำท่วมครั้งนี้ก็เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุยางิ ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักมากและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน สาเหตุต่อมาหนีไม่พ้น การทำลายป่า ในพื้นที่ภูเขาและลาดชันเพื่อทำเกษตรกรรมและสร้างรีสอร์ทที่พักตากอากาศ เมื่อพื้นที่ที่เคยดูดซับน้ำตามธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้างและมีทางระบายน้ำที่ไม่เหมาะสม ทำให้น้ำไหลบ่าลงสู่ลุ่มน้ำเร็วและแรงขึ้น ถ้าสังเกตน้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสาย มีขอนไม้เศษไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำแม่น้ำสายซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา โดยเปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมรวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุด
เมื่อพูดถึงการเกษตรในพื้นที่ลาดชันก็มักจะคิดถึงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่าง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ซึ่งเป็นจำเลยสำคัญเสมอ เนื่องจากพืชเชิงเดี่ยวมีระบบรากที่ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะยึดหน้าดิน จึงทำให้เกิดดินถล่มและโคลนไหลลงสู่แหล่งน้ำได้ง่าย อันที่จริงการแก้ปัญหานี้มีการพูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่อง กดดันผู้ประกอบการที่รับซื้อข้าวโพดจนกระทั่งผู้รับซื้อรายใหญ่ได้ดำเนินนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดรุกป่าหรือผ่านการเผาตอซังไปแล้ว อาจจะเหลือเพียงผู้รับซื้อรายอื่นๆ ที่ทำให้ผู้บุกรุกป่ายังคงปลูกข้าวโพดบนภูเขาได้อยู่ เพราะยังมีตลาดรองรับ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนภูเขาให้ได้ 100% รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราบแทน เพื่อไม่ให้กระทบห่วงโซ่อุปทาน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด รวมถึง ต้องมีความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายด้วย
อีกสาเหตุหนึ่งคือ การขยายตัวของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง การก่อสร้างที่ขาดการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ถนน และสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นเส้นทางน้ำธรรมชาติ ล้วนส่งผลให้การไหลของน้ำธรรมชาติถูกขวางทาง การพัฒนาเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการระบายน้ำ เกิดการสะสมของน้ำและเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ นอกจากนี้ การจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะแม้ว่าภาคเหนือจะมีระบบชลประทานและเขื่อนหลายแห่ง แต่หากการจัดการน้ำไม่เหมาะสม เช่น การเก็บน้ำในเขื่อนมากเกินไปในฤดูฝน หรือการระบายน้ำออกจากเขื่อนเมื่อระดับน้ำสูงเกิน ก็ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำที่อยู่ใต้เขื่อนเช่นกัน
จากสาเหตุมากมายที่กล่าวมา แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่เป็นระบบและบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่า การส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน การปรับปรุงระบบชลประทาน การบำรุงรักษาเขื่อน และการวางแผนการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงการไหลของน้ำธรรมชาติ หากภาครัฐสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วมในอนาคต และช่วยสร้างความมั่นคงให้กับทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
โดย….มุกดา รติรัตน์