กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท นิวเจน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จัดกิจกรรมหมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์ ณ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น รับฟังปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาและยกระดับหมอลำ สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติของยูเนสโก” เพื่อยกระดับหมอลำ การแสดงดนตรีภาษาพื้นถิ่นอีสานอันทรงคุณค่า ให้เป็น Soft power ของภาคอีสาน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
จากแนวคิด ‘ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ’ ผลักดันด้านการท่องเที่ยว ยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสานและศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กับสังคมและชุมชน โดยมี “ปลาร้า” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาหารพื้นบ้าน และ “หมอลำ” การแสดงดนตรีภาษาพื้นถิ่นอีสานอันทรงคุณค่า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ คือ วัฒนธรรมของชาวอีสานที่ยั่งยืน อีกทั้ง เพื่อยกระดับภาคอีสานสู่สายตาชาวโลกครบทุกมิติ สร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสังคมและชุมชน ตลอดจนยกระดับภาคอีสานให้เป็นอีกหนึ่ง Thailand Destination
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ผศ.ดร.สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด นายสุเนตร ทองคำ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยประธานสภาวัฒนธรรม 26 อำเภอ จังหวัดขอนแก่น รวมไปถึง ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ศิลปินแห่งชาติ ดร.จินตนา เย็นสวัสดิ์ ศิลปินมรดกอีสาน และนางสาวชญาธนุส ศรทัตต์ (เฌอเอม) มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025 เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
รับชมการแสดงในพิธีเปิดงาน ชุด “หมอลำกลอน” โดย ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำประยุกต์ และคณะ จากนั้น นางศิรดา มะลาสาย วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของงาน และนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในพิธี
กล่าวเปิดโครงการ
ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การสาธิตการถนอมอาหารอีสานแบบดั้งเดิม (หมักดองอาหารอีสาน) อาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาร้าอีสาน ปลาร้าบองสมุนไพร ส้มตำปูปลาร้า หม่ำอีสาน แกงไข่ฝำ และส้มเนื้อและส้มหมู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหมอลำ ทั้งเครื่องดนตรีหมอลำ โดยวงโปงลางอีสานมหาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จังหวัดขอนแก่น และเครื่องแต่งกายหมอลำ โดย ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย แม่ครูจินตนา เย็นสวัสดิ์ ชุดหมอลำ โดย นายสุระชัย นาสูงชน เมืองไหม อำเภอชนบท และเครื่องศิราภรณ์ของหมอลำ โดย นายคณิศร ชิณชุบัญพ์
รับฟังปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาและยกระดับหมอลำ สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติของยูเนสโก” โดย นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และเวทีเสวนา หัวข้อ“จากรากสู่โลก: ขับเคลื่อนหมอลำอีสานสู่เวทีสากล” โดย ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัย การปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินการเสวนา ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำประยุกต์ นายสุชาติ อินทร์พรหม (เฮียหน่อย หมอลำไอดอล) ผู้อำนวยการ บริษัท นิวเจน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด นายวีระพงษ์ วงศ์ศรี (บิ๊ก ภูมารินทร์) นักประพันธ์กลอนลำอีสานและเพลงลูกทุ่งหมอลำ และนายสุรพล ทองด้วง (อ๊อฟ สุรพล) แชมป์หมอลำไอดอลคนแรก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมถึงหาแนวทางในการผลักดันให้ศิลปะการแสดงหมอลำอีสานยกระดับสู่สากล
“หมอลำ” จะเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพส่งเสริมให้เป็น Soft power ของประเทศได้ ทั้งทาง ด้านเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รวมไปถึงทาง ด้านวัฒนธรรม ที่เป็นมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มาการสืบต่อ สืบทอด และต่อยอดคู่กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวอีสานทุกคน พร้อมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมาร่วมฟัง “ความม่วน” ของชาวอีสาน และผลักดัน “หมอลำ” ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยองค์การยูเนสโก เพื่อให้หมอลำเป็นการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสาน ที่นำพา ISAN to the World ได้อย่างแท้จริง