ข่าวเด่น » “มีอะไรในก่อไผ่” DSI ฟื้นคดีหมูเถื่อน เชื่อมโยงพนันออนไลน์

“มีอะไรในก่อไผ่” DSI ฟื้นคดีหมูเถื่อน เชื่อมโยงพนันออนไลน์

28 ธันวาคม 2024
109   0

ส่งท้ายปี 2567 มีเรื่อง “แปลก” ที่ทำให้แปลกใจได้เสมอ เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI จู่ๆ ก็รื้อคดีหมูเถื่อนขึ้นมา หลังคดีเงียบหายไปมากกว่า 1 ปี หลัง DSI เดินทางไปตรวจสอบบริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป จำกัด ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปสุกรและห้องเย็นมาตรฐานได้การรับรองถูกต้องตามหลักเกณฑ์จากกรมปศุสัตว์ เพราะมีหลักฐานเชื่อมโยงกับบริษัทมายด์เฮ้าส์ และบริษัทเวลท์ธี่ แอนด์ เฮลท์ซี่ จำกัด ที่เป็นจำเลยในคดีนำเข้าหมูเถื่อนเมื่อปี 2565  แต่ดันพบโผรายชื่อเครือข่ายและอุปกรณ์สำหรับรับพนันออนไลน์หลายรายการนับเป็นรายใหญ่รายหนึ่งของไทย

การพบหลักฐานดังกล่าว ทำให้ DSI ต้องแยกการดำเนินคดี “พนันออนไลน์” เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกหนึ่งคดี 1 เดือนผ่านไป คดีพนันออนไลน์ค่อยๆ จางหาย แต่คดีหมูเถื่อนกลับโดนรื้อฟื้นทั้งที่ควรดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดไปก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ล่วงเลยมากกว่า 1 ปี จึงนำกลับมาตรวจสอบ หรือมีอะไรในก่อไผ่?

รายงานข่าวกล่าวว่า DSI ขยายผลคดีเลขที่ 126/2566 การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนและนำไปจำหน่ายในตลาดแล้วจำนวน 2,385 ตู้ ในจำนวนนี้มีบริษัทมายด์เฮ้าส์ จำกัด เป็นผู้นำเข้าและส่งหมูเถื่อนจำนวน 15 ตู้ ไปแปรรูปที่บริษัท วีพีเอฟ และส่งให้กับบริษัทเวลท์ธี่ แอนด์ เฮลท์ซี่ จำกัด ที่จำเลยถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ โดยหมูล็อตนี้นำไปส่งมอบให้กับบริษัท ซีพี แอ๊กซ์ตร้า จำกัด ซึ่งคดีนี้ปรากฎหลักฐานมีกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนเกี่ยวข้อง 10 แห่งถูกดำเนินคดีไปแล้ว เกิดคำถามว่า เหตุใด DSI จึงไม่ใช้เอกสารหลักฐานเหล่านี้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ถึงที่สุดด้วยตนเอง แต่กลับส่งคดีนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความเป็นคดีนอกราชอาณาจักร และรอการตรวจสอบหลักฐานเพิ่ม และเหตุใดจึงรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันว่ากลุ่มคดีพิเศษเกี่ยวกับหมูเถื่อนทั้งหมดตั้งแต่ปี 2563 อยู่ในความรับผิดชอบของ DSI ทั้งคดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลแช่แข็ง 161 ตู้ คดีนำเข้าหมูเถื่อนและส่งไปจำหน่ายในตลาดเรียบร้อย 2,385 ตู้ คดีนำเข้าขาไก่และชิ้นส่วนสัตว์อื่นๆ 10,000 ตู้ แต่ทุกคดีถูกส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ตัดสินคดี เนื่องจากคดีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทุจริตของข้าราชการไทย และต้องไปตรวจสอบหลักฐานที่ประเทศต้นทางส่งออกสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่สำคัญคดีทั้งหมดถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ที่ ป.ป.ช. แล้ว เหตุใด DSI จึงไปควักคดีกลับมาตรวจสอบอีกและเหตุใดจึงไม่ดำเนินคดีนี้ให้ถึงที่สุดแต่แรก

นอกจากนี้ DSI ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะพบว่าในกลุ่มผู้กระทำความผิดเหล่านี้มีการโอนเงินออกไปยังบริษัทต้นทางจำหน่ายชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่แข็งในต่างประเทศ รวมถึงประสานงานกับกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบเอกสารการนำเข้าหมูเถื่อน และกรมปศุสัตว์ กรณีการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลแช่แข็ง ตามลำดับ ซึ่ง DSI น่าจะได้หลักฐานมากเพียงพอในการดำเนินคดีหมูเถื่อนทั้งหมดเพื่อจบคดีและนำตัวคนผิดไปลงโทษตามกฎหมาย แต่เหตุใดจึงส่งคดีไปยัง ป.ป.ช. เป็นคนตัดสินชี้ขาด และกลับมารื้อฟื้นคดีหมูเถื่อนใหม่ด้วยการเข้าตรวจบริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป

การรื้อฟื้นคดีหมูเถื่อนครั้งนี้ มีข้อสังเกตและมีการตั้งคำถามว่า “มีอะไรในก่อไผ่” เพราะคดีนี้จะต้องรอการพิจารณาตามขั้นตอนของ ป.ป.ช. แต่ DSI กลับมาทำหน้าที่เข้มแข็งอีกครั้งด้วยการเข้าตรวจค้นคลังสินค้าของบริษัท ซีพี แอกซ์ตรา ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเข้าตรวจสอบคลังสินค้าของบริษัทฯ ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ตามเอกสารหลักฐานที่บริษัทเวลท์ธี่ แอนด์ เฮลท์ซี่ ส่งมอบหมูเถื่อนแปรรูปให้กับบริษัทฯ ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2565 ถึงวันนี้สิ้นปี 2567 ไม่มีหมูเถื่อนอยู่ในคลังสินค้าดังกล่าวแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งจะเข้าไปตรวจสอบ หากดำเนินคดีหมูเถื่อนแบบเข้มข้นตั้งแต่รับโอนมาเป็นคดีพิเศษเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คดีน่าจะสิ้นสุดและนำคนผิดไปลงโทษได้ทั้งหมดแล้วแน่นอน ตามรายงานข่าวยังกล่าวอีกว่าบริษัทฯ แสดงหลักฐานเอกสารยืนยันการซื้อขายและตรวจรับรองคุณภาพถูกต้องจากหน่วยงานราชการ และยินดีให้ความร่วมมือกับ DSI หากต้องเอกสารเพิ่มเติม

โดย : ปราบดา มหากุศล นักวิจัยสินค้าเกษตร