ในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่และเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทั่วโลก มีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การสื่อสาร การขนส่งยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยี AI ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี และบริษัท ยูแทคไทย จำกัด (UTAC Thai) โดย ดร.ณัฏฐพงษ์ สุทธิวงศ์สุนทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อการพัฒนาและยกระดับความสามารถของบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มุ่งเน้นในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เพื่อการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ สจล. สู่การยกระดับการศึกษาและนวัตกรรมระดับโลก เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างบัณฑิตที่มีทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์ผ่านการฝึกงาน งานวิจัยและการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ “The World Master of Innovation” ที่มุ่งเน้นผลิตกำลังคนที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต”
ดร.ณัฏฐพงษ์ สุทธิวงศ์สุนทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูแทคไทย จำกัด (UTAC Thai) กล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้เป็นความฝันของผม ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ทุกประเทศสามารถจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในงานได้เหมือนๆ กัน แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราแตกต่างและประสบความสำเร็จได้ ก็คือทรัพยากรมนุษย์ เราจะพัฒนากำลังคนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่คนไทยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงาน หากได้รับการสนับสนุนจากภาคการศึกษาในการพัฒนาบุคลากร เราก็จะสามารถก้าวหน้าได้เร็วมากขึ้น ระบบการศึกษาในไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ผมคิดว่าประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในด้านนี้ได้อย่างแน่นอน ผมมั่นใจในความร่วมมือครั้งนี้จากศักยภาพของบริษัท ยูแทคไทย และ สจล.ที่เป็นผู้นำด้านความรู้และมีศักยภาพไม่แพ้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เราจะยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ การฝึกอบรม การฝึกงาน และรับนักศึกษาเข้าทำงาน เป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเยาวชนไทย ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลกในอนาคตได้ครับ”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่ทำให้เกิดเกิดประโยชน์ในหลายด้าน เช่น
- ด้านการเรียนการสอนหลักสูตร เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งในระดับปริญญาตรี และ บัณฑิตศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน
- ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมด้าน เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น การพัฒนาวัสดุใหม่ๆ สำหรับเซมิคอนดักเตอร์และ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรือการวิจัยในกระบวนการผลิต เพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ
- ด้านการส่งนักศึกษาฝึกงาน สหกิจ และการรับนักศึกษาเข้าทำงาน
“สจล.” จะจัดส่งนักศึกษาที่มีความสามารถในการฝึกงานหรือทำสหกิจศึกษาที่บริษัท ยูแทคไทย โดยมีการฝึกฝนในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะนอกจากนี้ บริษัท ยูแทคไทย จะพิจารณาการรับนักศึกษาจาก สจล. เข้าทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา
- ด้านการบริจาคเครื่องมือ อุปกรณ์ ด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
บริษัท ยูแทคไทย จะให้การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนและงานวิจัยในด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยเฉพาะเครื่องมือที่มีความทันสมัยและมีความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้แก่ เครื่องจักรด้าน Assembly & Test และบอร์ดแสดงกระบวนการผลิต IC (IC Process Flow)
- ด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ทั้งสจล. และ บริษัท ยูแทคไทย จะร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งในด้านการสอน การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม
นอกจากการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน ยังเป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ เตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาสำหรับการเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน พัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก สร้างนวัตกรรมที่มีความหมาย และนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในยุคของอุตสาหกรรมดิจิทัล