การเคหะแห่งชาติแถลงผลงานครบรอบ 52 ปี สร้างที่อยู่อาศัยกว่า 7.5 แสนหน่วย ผลประเมิน ITA 96.44 คะแนน ได้อันดับ 1 ของกระทรวง พม. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรของ “ท็อป วราวุธ” รมว.พม.
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานครบรอบ 52 ปี การเคหะแห่งชาติ (กคช.) พร้อมแถลงผลการดำเนินงานปี 2567 และแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยปี 2568 โดยมีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งสื่อมวลชนร่วมงาน ณ สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ ถนนนวมินทร์ คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดกล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน และในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 นี้จะครบรอบ 52 ปี ของการก่อตั้ง โดยที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 754,971 หน่วย อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการเคหะชุมชน โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และโครงการอาคารเช่า เป็นต้น ขณะที่ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ปี 2567 การเคหะแห่งชาติได้คะแนน 96.44 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม เป็นอันดับที่ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. และเป็นอันดับที่ 10 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
สำหรับการทำงานในปี 2567 การเคหะแห่งชาติมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)ที่มีมุมมองต่อการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และมุ่งเน้นนโยบายสำคัญที่เรียกว่า 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ได้แก่ เสริมพลังวัยทำงาน เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน สร้างพลังผู้สูงอายุ เพิ่มโอกาสและเสริมคุณค่าคนพิการ และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว (เกี่ยวข้องโดยตรงบการเคหะแห่งชาติ) ดังนั้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all) และชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มวัย (Community for all) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ และในปี 2568 รมว.พม. ยังได้ผลักดัน 9 โครงการ Flagship ต่อยอดนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากรซึ่งภารกิจที่การเคหะแห่งชาติได้รับมอบหมายจาก รมว.พม. ให้ดำเนินการ คือ บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all) ประกอบด้วย โครงการบ้านตั้งต้น (First Jobber) การเคหะแห่งชาติได้นำโครงการอาคารเช่ามาให้กลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน (First Jobber) ได้เช่าในราคาพิเศษ โดยคัดเลือกโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 1,428 หน่วย ให้เช่าในราคาเริ่มต้น 1,200 บาทต่อเดือน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 มีประชาชนทำสัญญาเช่า
รวมทั้งสิ้น 540 หน่วย
นอกจากนี้ยังมียังมีโครงการอาคารเช่าพักอาศัยที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอีกจำนวน 12 โครงการ ประกอบด้วย สมุทรสาคร (กระทุ่มแบน 3) นครสวรรค์ 2 ระยะที่ 2 มหาสารคาม ลำปาง สุรินทร์ (สลักได) อุบลราชธานี กาญจนบุรี พังงา (ตะกั่วป่า) ชลบุรี (แหลมฉบัง) ระยะที่ 1 สมุทรปราการ (บางพลี) อุดรธานี (สามพร้าว) และเชียงใหม่ (หนองหอย) รวม 3,540 หน่วย ปัจจุบันมีผู้ทำสัญญาเข้าอยู่อาศัยแล้ว จำนวน 1,935 หน่วย และในปี 2568 ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกจำนวน 5 โครงการ 1,594 หน่วย ได้แก่ ลพบุรี ระยะที่ 1 พระนครศรีอยุธยา (โรจนะ) ระยะที่ 1 ฉะเชิงเทรา (บางปะกง) หนองบัวลำภู และเพชรบุรี (โพไร่หวาน)
ขณะที่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ได้แก่ อาคาร D1 สูง 35 ชั้น จำนวน 1 อาคาร รวม 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมในโครงการเคหะชุมชนดินแดง อาคารแฟลตที่ 23 – 32 ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบกุญแจให้กับผู้อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 จำนวน 397 ครัวเรือนและคาดว่าจะบรรจุผู้อยู่อาศัยเต็มจำนวนประมาณเดือนมิถุนายน 2568 ส่วน อาคาร A1 สูง 32 ชั้น จำนวน1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมในโครงการเคหะชุมชนดินแดง อาคารแฟลตที่ 9 – 17 และอาคารแฟลตที่ 63 – 64 ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานการก่อสร้างร้อยละ 18.40 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569
ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยประเภทขาย การเคหะแห่งชาติได้จัดโปรโมชันลดราคา 5-20% เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้กับประชาชนในนามกระทรวง พม. จำนวน 102 โครงการ และลดราคาพิเศษโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 47 โครงการ และวางเงินจองเริ่มต้น 1,000 บาท ถึง 31 มีนาคม 2568 ที่จะถึงนี้และหากประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติแล้วโดนปฏิเสธสินเชื่อ การเคหะแห่งชาติยังมี โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563-2567 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 1,785.116 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเอง จำนวน 2,758 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น กลุ่มลูกค้าทั่วไป 2,404 ราย และกลุ่มเปราะบาง 354 ราย และในปี 2568 การเคหะแห่งชาติได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 388.800 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนได้ประมาณ 648 ราย
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแล้ว การเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยได้จัดทำโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ (บ้านสบายเพื่อยายตา) ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553-2567 จำนวนทั้งสิ้น 512 หลัง โดยเฉพาะในปี 2567 ได้ดำเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสร้างใหม่จำนวนทั้งสิ้น 71 หลัง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ตราด ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ชัยภูมิ สตูล และสุพรรณบุรี และในปี 2568 ได้มีการเปลี่ยนชื่อโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับ Flagships ด้านที่ 3 “สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง” และครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของกระทรวง พม.เป็น “โครงการปรับปรุงหรือสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี” (บ้านสบายเพื่อยายตา) และมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 9 จังหวัด จำนวน 30 หลัง ได้แก่ พื้นที่นิคมพึ่งตนเอง 6 จังหวัด จำนวน 23 หลัง และพื้นที่ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน 3 จังหวัด จำนวน 7 หลัง
ด้านการบริหารจัดการชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการยกระดับชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Smart Sustainable Community : SSC)เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้อย่างเป็นระบบ และยกระดับชุมชนให้เป็น Smart Sustainable Community โดยกำหนดเกณฑ์ตัวชี้วัดออกเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจมิติการมีส่วนร่วม มิติสุขภาพ และมิติสิ่งแวดล้อม และในปี 2567 ได้มีการต่อยอดขยายผลกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคัดเลือกชุมชนที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน SSC เป็นโครงการนำร่องในการประเมินดัชนีความสุขในชุมชนของผู้อยู่อาศัย จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง ระยะ 1 ผลประเมินความสุขได้ร้อยละ 80.30 และโครงการบ้านเอื้ออาทรพหลโยธิน กม.44 ระยะ 1 เฟส 1 ผลประเมินความสุขได้ร้อยละ 79.40 และเพื่อเป็นการเฟ้นหาชุมชนที่มีการเชื่อมโยงกับผู้อยู่อาศัยในชุมชนทุกมิติ การเคหะแห่งชาติยังได้จัดโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2567
โดยคัดเลือกชุมชนของการเคหะแห่งชาติกว่า 700 ชุมชน และกำหนดเกณฑ์ค่าคะแนนการประเมินชุมชนไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านกระบวนการมีส่วนร่วม ด้านการบริหารจัดการชุมชน และด้านครอบครัวเข้มแข็ง โดยมีโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบในโครงการประกวดฯ ทั้งสิ้น 18 ชุมชน ซึ่งโครงการบ้านเอื้ออาทรเชียงราย (ริมกก) ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประเภทอาคารแนวราบ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 3) ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประเภทอาคารแนวสูง และโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จังหวัดนครสวรรค์ 2 ระยะ 1-2 ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประเภทอาคารเช่า
และในปี 2568 การเคหะแห่งชาติยังได้มีพันธมิตรมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในด้านเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้ MOU ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติให้มีความรู้ ความสามารถ ทั้งในด้าน Reskill และ Upskill ให้สูงขึ้นและได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน นับเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถพึ่งพาตนเองได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาการจัดสวัสดิการด้านการอยู่อาศัยทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย โดยขับเคลื่อนโครงการฯ ผ่าน 6 กิจกรรม ดังนี้ 1. ส่งเสริมปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชน 2. ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะและสร้างชุมชนสะอาด 3. สร้างชุมชนและครอบครัวเข้มแข็งด้วยการส่งเสริมจัดกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ 4. การเสริมสร้างศักยภาพเพื่อสร้างอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชน (Productivity) 5. สนับสนุนโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติกรณีถูกสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ และ 6. การส่งเสริมการดูแลสุขภาวะของคนในชุมชนซึ่งในปี 2567 ได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 12 ชุมชน และในปี 2568 จะดำเนินการเพิ่มอีก 12 ชุมชน
และในช่วงปีที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดทั้งภาคเหนือและภาคใต้ การเคหะแห่งชาติก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่โครงการของการเคหะแห่งชาติ ทั้งยังเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยรวมถึงได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อและปลอดค่าเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือนอีกด้วย
จากผลการดำเนินงานในปี 2567 ทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน อาทิ รางวัล “องค์กรเกียรติยศ” ในงานหอเกียรติยศ 2567 วุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 รางวัล “รัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านการส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน” ในงาน “Siamrath Awards 2024” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 รางวัล Friendly Design Awards 2024 ประเภท “โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อคนทั้งมวล” จากมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ในงาน Thailand Friendly Design Expo 2024 : มหกรรมอารยสถาปัตย์นวัตกรรมสุขภาพ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 และยังได้รับรางวัล 2025 WOW Awards (Wonder of Well-Living City Awards) “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 อีกด้วย
“ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงความยั่งยืนตามเกณฑ์ NHA Eco Village เพื่อลดโลกร้อนและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยในเชิงอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ซึ่งปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้แบ่งสัดส่วนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 10% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และในปี 2568 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% และในอนาคตจะทยอยเพิ่มจำนวนสัดส่วนขึ้นเรื่อย ๆ จนครบ 100% เพราะ Universal Design ไม่ใช่แค่การออกแบบภายในห้องพักอาศัยแต่หมายถึงสภาพแวดล้อมทั้งหมดของโครงการ ที่ทุกคนต้องสามารถดำเนินชีวิตประจำวันร่วมกันได้อย่างปกติสุข ตามวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ