นครราชสีมา-ชาวโคราช ยอมเสียเวลาพาพ่อแม่ทำธุรกรรมที่แบงค์โดยตรง ดีกว่าใช้ Mobile Banking ชี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชอบหลอกผู้สูงอายุ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่าย จี้ รัฐเร่งแก้ปัญหาด่วน แบงค์ต้องร่วมรับผิดชอบ

ตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบัญชีม้า โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปปง. ธปท. กสทช. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกระดับความปลอดภัยการใช้งาน Mobile Banking โดยดำเนินการตรวจสอบให้ชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking ตรงกับชื่อเจ้าของซิมหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อสกัดกั้นบัญชีม้าที่เป็นเส้นทางก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ

จากการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขานครราชสีมา โดยนางสาวณัฐชยา ด้วงกลาง อายุ 47 ปี ชาว อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า แม่เปิดบัญชีที่ธนาคารแห่งนี้ จึงพาแม่มาทำธุรกรรมการเงิน ฝาก-ถอน ที่ธนาคารโดยตรง จะไม่ผูกบัญชีไว้กับ Mobile Banking แอพพลิเคชั่นของธนาคาร เพราะตอนนี้มิจฉาชีพเยอะมาก ไม่อยากให้เกิดปัญหากับข้อมูลส่วนบุคคลหรือเงินในบัญชีรั่วไหล จึงไม่ผูกบัญชีธนาคารของแม่หรือเบอร์โทรศัพท์ของแม่ไว้กับแอพพลิเคชั่นหรือบริการใดๆ เลย

ที่ผ่านมา เคยมีเบอร์โทรแปลกๆ โทร.มาหาแม่ อ้างโน่นนี่ ก็จะบอกให้แม่กดตัดสายทิ้งทันที กลัวมาหลอกถามข้อมูล ซึ่งคนสูงอายุจะหลงเชื่อคล้อยตาม รู้ไม่เท่าทัน กดตัดสายทิ้งไปเลยดีกว่า และหากแม่ต้องการจะถอนเงิน ก็ยอมเสียเวลาพาแม่มาธนาคารโดยตรงจะดีกว่า ไม่ผูกบัญชีธนาคารไว้กับเบอร์โทรศัพท์หรือบัตรอะไรทั้งสิ้น และไม่ผูกบัญชีของแม่กับบัญชีหรือโทรศัพท์ของตนด้วย ต้องป้องกันเอาไว้ก่อน แต่ส่วนตัว เป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะใช้บริการ Mobile Banking เหมือนกัน แต่จะไม่กดลิงค์ใดๆ ต้องรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพ

นอกจากนี้จะใช้วิธีกระจายบัญชี กับฟังข่าวสาร หาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะบางคนแม้จะดูข่าวสารแต่ก็ยังพลาด เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพจะแอบอ้างรู้ข้อมูลชื่อ ที่อยู่ และรู้รหัสเลขบัตรประชาชน ทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบ เดือดร้อนกันอย่างมาก หลายคนเครียดจนเป็นซึมเศร้าหาทางออกไม่ได้ จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็วที่สุด และธนาคารอยากให้มีส่วนร่วมรับมือแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยตรง เพราะเมื่อเกิดเหตุโดนดูดเงินในบัญชี กว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินจะดำเนินการระงับบัญชีหรือช่วยเหลือ เงินก็ถูกส่งต่อไปหมดแล้ว และแต่ละเคสจะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน จึงอยากให้ธนาคารมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย”

ด้านนางขวัญพร มาดายัง อายุ 63 ปี ชาว อ.เมืองนครราชสีมา บอกว่า “ปัจจุบันมิจฉาชีพมาหลายรูปแบบ ใช้ AI เลียนภาพ เลียนเสียงได้เหมือนมาก รัฐแก้ไขปัญหาไม่ได้สักที ระวังยากมาก ถ้ามีเบอร์แปลกไม่คุ้นโทร.มาหาตน ก็จะใช้วิธีไม่รับสายจะดีกว่า และถ้ามีคนส่งข้อความหรือแชร์มาหา ก็จะไม่กดลิงค์ใดๆ ตนอยู่บ้านกับลูกหลานก็ยังโดนมิจฉาชีพโทร.มากวน น่ากลัวจริงๆ ส่วนบริการ Mobile Banking ตนยังจำเป็นต้องใช้ เพราะมีความสะดวกรวดเร็ว ต้องโอนเงินจากบัญชีของตนไปเข้าบัญชีของลูกที่อยู่ห่างไกลกัน และชื่อที่เปิดใช้ก็ตรงกับชื่อที่ลงทะเบียนในซิมโทรศัพท์มือถือ แต่ตนไม่แน่ใจว่า Mobile Banking จะสะดวกและป้องกันได้จริงหรือไม่ จึงต้องป้องกันตนเองให้มากยิ่งขึ้น ตรวจสอบบัญชีปลายทางให้ดีทุกครั้งก่อนจะกดโอน .

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา