สุดยิ่งใหญ่!ซอฟต์พาวเวอร์ชัยภูมิ แห่นาคโหด ประจำปี 2567 หนึ่งเดียวในโลก งานบุญใหญ่พลังแห่งศรัทธา นักท่องเที่ยวแห่ชมจำนวนมาก
ที่วัดตาแขก บ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นายอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครราชสีมา ร่วมกิจกรรมประเพณี แห่นาคโหด ประจำปี 2567
โดยมี นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และนายสนอง มะลัยขวัญ นายอำเภอภูเขียว หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเปิดงานสืบสานประเพณีอันยาวนาน แห่นาคโหด ที่เดียวในโลก เข้าเยี่ยม “นาค” จำนวน 4 – 5 นาค ที่กำลังจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พิธีการตัดและโกนผมนาค ตามพิธี บวชปกติ และชมพิธีสู่ขวัญนาค ขอขมาญาติผู้ใหญ่ตามบ้านต่างๆ พิธีบายศรีสู่ขวัญนาค บริเวณบนศาลาวัด
สำหรับไฮไลต์งานเริ่มต้น ขบวนวัฒนธรรมประกอบไปด้วย พานพุ่ม ทอง-เงิน ขบวนธงสัญลักษณ์ต่างๆ เสลี่ยงบายศรี ชุดบูชา เครื่องบายศรี ขบวนพ่อ – แม่และญาติของนาค ถือผ้าไตร เครื่องใช้บวชหมอน ขบวนนาคขึ้นแห่บนแคร่ และรถเครื่องเสียง เริ่มแห่นาคโหด ไปรอบๆหมู่บ้าน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้าน มาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่าโยนนาคอย่างรุนแรง ถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่า ผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่
โดยผู้บวชจะต้องประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ หากใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช โดยจะเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางที่แห่รอบหมู่บ้านกว่า 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง และด้วยรอบโบสถ์วัดอีก 3 รอบ
ด้าน นายอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเพณีแห่นาคโหด ชัยภูมิ มีประวัติอันยาวนาน และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สืบสานประเพณีวัฒนธรรม และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสร้างรายได้ให้ชุมชน สนองนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศไทย
สำหรับประเพณี แห่นาคโหด ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์แห่งชัยภูมิ เป็นประเพณีนี้ ถูกสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี โดยชาวบ้านแห่งนี้ จะร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ ให้กับชายหนุ่มที่มีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้บวชตามหลักศาสนาพุทธ เพื่อเป็นการแทนคุณบิดามารดาและญาติพี่น้อง เริ่มจากพิธีโกนผมนาคในช่วงเช้า ต่อด้วยการขอขมาบิดามารดาตลอดจนญาติผู้ใหญ่ ก่อนเข้าพิธีทำขวัญนาค ซึ่งทั้งหมดจะต้องพากันเดินออกจากวัดเพื่อไปกราบศาลปู่ตา ซึ่งเป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อประจำหมู่บ้าน จากนั้นตั้งขบวนแห่ โดยการนำนาคขึ้นแห่บนแคร่ไม้ไผ่ ถือว่าเป็นที่เดียวในโลก