สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association) ร่วมงานแสดงสินค้า THAIFEX – Anuga Asia 2024 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ในการสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทยมีความสำคัญ ผลิตสินค้าคุณภาพส่งออกทั่วโลก ปัจจุบันต้องปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์สังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เพื่อความยั่งยืนและการยอมรับจากสากล” ทางสมาคมฯ มีแนวทางสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังนี้
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
สมาคมฯ สนับสนุนสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ: จากนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับราคาสินค้าสัตว์น้ำ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และควบคุมการนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย สมาคมฯ เห็นด้วยในการสร้างสมดุลยภาพและความเป็นธรรมด้านราคาให้กับห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ชาวประมง, อุตสาหกรรม, ค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจนผู้บริโภค โดยร่วมมือกับโรงงานสมาชิกทางภาคใต้และสมุทรสาคร รับซื้อปลาทูน่า ซาร์ดีน แมคเคอเรล จากเรือไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย และกำหนดแนวทางการจัดซื้อวัตถุดิบจากเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย สำหรับอุตสาหกรรมปลากระป๋อง ประกอบด้วย 3 หลักการ ได้แก่ (1) การทำประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบย้อนกลับได้ (2) การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และ (3) การใช้แรงงาน(ลูกเรือ)อย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังส่งเสริมการยกระดับราคาสินค้าประมงพื้นบ้านและผลักดันให้เข้าสู่ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ร้านอาหารในเครือโรงแรม เช่น ปลากะพงจากทะเล หรือ สินค้าที่เน้นที่มาของแหล่งผลิต (GI) และร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางและประชาสัมพันธ์สินค้าสัตว์น้ำ เพื่อส่งเสริมสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงของไทยที่ถูกกฎหมายและมีคุณภาพ
อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน: ด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่มหาสมุทรคิดเป็นร้อยละ 70 ของโลก ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 90% สมาคมฯ ส่งเสริมการกำจัดขยะในทะเล และเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการกำจัดและรีไซเคิลขยะ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทูน่าใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบปลาทั้ง 100% นำส่วนสูญเสีย(Fish by products) ไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ และน้ำมันปลา เป็นต้น ด้านแรงงาน สมาคมฯ ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) และกระทรวงแรงงานในการส่งเสริมจริยธรรมด้านแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับจากสากล อีกทั้ง ได้ผลักดันการใช้กลไกของคณะกรรมการสวัสดิการที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นช่องทางในการรับข้อร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้กับแรงงาน รวมถึงนำแนวปฏิบัติแรงงานที่ดี (Good labour Practices; GLP) ไปใช้ในอุตสาหกรรมและห่วงโซ่การผลิตด้วย
สมาคมฯ สนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู และความร่วมมือในกรอบไอเพฟ หรือ เศรษฐกิจอินโด–แปซิฟิก (Indo–Pacific Economic Framework: IPEF) เพื่อประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นธุรกิจหลักของไทย หรือ “ครัวของโลก” โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา และการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ใน 2 กรอบนี้ คือโอกาสในการเจรจาลดภาษีสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของไทย เช่น ทูน่ากระป๋อง กับทางสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ โดยมีภาษีนำเข้าสูงถึง 24% และ 35% ตามลำดับ หากสามารถเจรจาลดภาษีให้ต่ำลง จะเป็นประโยชน์ทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชนทูน่า ส่วนต่างจากกำไรที่ลดภาษี สามารถนำกลับไปช่วยเหลือประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ให้มีความมั่นคงทางรายได้ และมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งดังกล่าวกว่า 60% ของการนำเข้าทั้งหมด อนึ่ง เงื่อนไขการเจรจาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพในกติกาสากลเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งการปกป้องสิทธิแรงงาน ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในตอนท้าย ดร.ชนินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อท้าทายต่างๆ เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎระเบียบ การส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืน และการปกป้องทรัพยากรทางทะเล และการปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน รัฐบาล อุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม และต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง”