ประชาธิปัตย์ขาขึ้น!!‘เกษม มาลัยศรี’ อดีต ส.ส.-ส.ว.ร้อยเอ็ด ซบปชป. ยก ‘จุรินทร์’ เหมาะเป็นนายกฯ

ชี้เกษตรกรอีสานชอบนโยบายประกันรายได้เกษตรกร

ที่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้(6ต.ค)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามญี รมช.มหาดไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร นายปริญญาพานิชภักดิ์ 3 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
มอบบัตรสมาชิกพรรคให้กับ นายเกษม มาลัยศรี อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติพัฒนา และอดีตส.ว. ปี 2543 หลังสมัครเป็นสมาชิกพรรค และมีผลวันนี้โดยนายจุรินทร์ ได้สวมเสื้อแจ็คเก็ตตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ ให้นายเกษม พร้อมกล่าวขอบคุณที่ให้เกียรติมาร่วมงานกับพรรค

ด้านนายเกษม กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะนายจุรินทร์ หัวหน้าพรรค พูดจริง ทำจริงทำมากกว่าพูด ช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน จึงอยากสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาธิปัตย์มาแก้ไขปัญหาประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเกษตกรทั่วประเทศมีรายได้ จากนโยบายประกันรายได้ถ้วนหน้า

“หัวหน้าพรรคเป็นคนขยัน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ใกล้ชิดประชาชน ที่สำคัญคือ นายจุรินทร์ เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต จึงเชื่อมือพรรคประชาธิปัตย์ และมั่นใจ ว่า นายจุรินทร์ พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี” นายเกษม กล่าว

จับตา เดือน ต.ค. พายุเตี้ยนหมู่ กับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ปี พ.ศ. 2564

รศ.ดร.อารียา ฤทธิมา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะนักวิจัย โครงการวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยถึง พายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) กับสถานการณ์น้ำและพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม วิเคราะห์ฐานข้อมูลอุทกวิทยาและแนวทางการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก พร้อมพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิผลแบบจำลอง ตอบประเด็นคำถามสำคัญ พยากรณ์ฝนล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ชี้บริเวณเหนือเขื่อนยังมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนท้ายเขื่อนมีฝนตกหนักต่อเนื่องในบางพื้นที่ เขื่อนเจ้าพระยาต้องระบายน้ำ 2,500 ลบ.ม./วินาทีในช่วงนี้ คาดแนวโน้มพื้นที่เกษตรกรรม เขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และตะวันออก อาจได้รับผลกระทบเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) พายุหมุนเขตร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ที่เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม และพัดเคลื่อนตัวมายังทิศตะวันตกกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และน้ำท่วมเฉียบพลัน (Flash Flood) ครอบคลุมจังหวัดทางภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชลบุรี และตราด และภาคกลางตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมไหลหลากในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ที่หลายภาคส่วนต่างตระหนักถึงภัยพิบัติอยู่ในขณะนี้

โดยบทบาทของคณะวิจัยโครงการวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานวิจัยและผลลัพธ์จากงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรม CORUN ได้ทำการวิเคราะห์ฐานข้อมูลอุทกวิทยาและแนวทางการระบายน้ำจากเขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา ตลอดจนทำการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิผลของแบบจำลอง (ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ) ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ 1 แบบจำลองการพยากรณ์ฝนล่วงหน้ารายสองสัปดาห์ ส่วนที่ 2 แบบจำลองประมาณการปริมาณน้ำท่าที่สถานีตรวจวัดหลัก และส่วนที่ 3 แบบจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนหลักเพื่อกำหนดรูปแบบการระบายน้ำจากเขื่อนด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อร่วมกันตอบประเด็นคำถามที่สำคัญ ดังนี้

📍ปริมาณฝนในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และแนวโน้มฝนจากการพยากรณ์

จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม PERSIANN ไทยมีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 500 มิลลิเมตร ทางบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมทั้งสิ้นกว่า 43 จังหวัด ในขณะที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 150 มิลลิเมตร เมื่อทำการพยากรณ์ฝนล่วงหน้าด้วยแบบจำลอง WRF–ROMS (CFSV2) รายสองสัปดาห์บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ (ระหว่างวันที่ 27 กันยายน–10 ตุลาคม 2564) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณฝนสะสมบริเวณเหนือเขื่อนยังคงมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนท้ายเขื่อนยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และตกหนักในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และสุโขทัย และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี พบว่า ปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติถึง 17 มิลลิเมตร โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำวังที่มีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติถึง 51 มิลลิเมตร และ 46 มิลลิเมตร ตามลำดับ และท้ายเขื่อนของเขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ท่าจีนมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติถึง 34 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าบริเวณเหนือเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยากว่าเท่าตัว นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ฝนพยากรณ์ตลอดทั้งเดือนตุลาคม 2564 มีแนวโน้มว่าปริมาณฝนจะสูงกว่าปกติบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้น เขื่อนหลักจำเป็นต้องเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อไว้ใช้ในช่วงการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565

📍ปริมาณน้ำท่าและแนวโน้มที่สถานีตรวจวัดหลักเดือนตุลาคมในสองสัปดาห์ข้างหน้า

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำท่าของสถานีตรวจวัดหลัก ได้แก่ สถานี W.4A, Y.17, N.22A, CT.2A, C.2, C.13 และระดับน้ำของสถานี S.5, S.26 และประตูควบคุมน้ำลพบุรี พบว่า ปริมาณน้ำท่าของทุกสถานีตรวจวัดหลักเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ตั้งแต่ฝนตกช่วงเดือนกันยายน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังพายุเตี้ยนหมูพาดผ่าน สำหรับสถานี Y.17 ซึ่งตรวจวัดน้ำในแม่น้ำยม ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน พบว่า ระดับน้ำเฉลี่ยในเดือนกันยายนเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคมกว่า 4 เท่า โดยปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยเท่ากับ 206.21 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่สถานี C.2 ในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งรับน้ำหลากจากแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน พบว่า ปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,332 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 26 กันยายน จากมวลน้ำที่ไหลสมทบจากทางภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้ ณ วันที่ 27 กันยายน ปริมาณการระบายน้ำที่สถานีตรวจวัด C.13 ที่เขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อตัดยอดน้ำและกระจายน้ำเข้าสู่ระบบคลองส่งน้ำทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำหน้าที่เป็นแก้มลิง ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ท้ายเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ดังแสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ แนวโน้มปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำของสถานีตรวจวัด S.5 และ S.26 ท้ายเขื่อนพระรามหกก่อนเกิดพายุเตี้ยนหมู่เพิ่มระดับสูงขึ้นถึง 0.87 และ 1.53 เมตร ตามลำดับ ในขณะที่ระดับน้ำที่ประตูควบคุมน้ำลพบุรีที่รับน้ำต่อจากโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนบนกำลังเพิ่มระดับสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้

สำหรับผลการคาดการณ์ระดับน้ำล่วงหน้าถึงวันที่ 6 เดือนตุลาคม ด้วยแบบจำลอง MIKE11 และอาศัยข้อมูลฝนพยากรณ์จากแบบจำลอง WRF–ROMS (GFS) 7 วันล่วงหน้าเป็นข้อมูลนำเข้า พบว่า แนวโน้มของระดับน้ำของสถานีตรวจวัดหลักต่าง ๆ ในเดือนตุลาคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มคงที่และลดลง ยกเว้นสถานีตรวจวัด C.13 ที่เขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาและสถานี PAS008 ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ระดับน้ำเฝ้าระวังและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอิทธิพลของน้ำหลาก

📍การบริหารเขื่อน และปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน

ในขณะเดียวกัน อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมของทั้ง 4 เขื่อนหลักเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 กันยายน เท่ากับ 3,203, 2,833, 1,106 และ 1,194 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ส่งผลปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มสูงขึ้นไม่มากนักเพียง 29.08% และ 19.77% ของปริมาตรเก็บกักใช้การเท่านั้น และบริหารเขื่อนด้วยการลดปริมาณน้ำระบายน้ำลงต่ำสุดในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะที่อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ส่งผลต่อความแปรปรวนของข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ค่อนข้างสูง และชัดเจนยิ่งขึ้นหลังวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยพบว่า ปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนสูงถึง 90.70% และเกินความจุเก็บกักสูงสุดของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์โดยมีค่าเท่ากับ 107% เมื่อวันที่ 30 กันยายน ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อนสูงขึ้น จากการวิเคราะห์พบว่า อัตราส่วนปริมาณน้ำไหลเข้ารายปีสะสมในปี พ.ศ. 2564 ต่อความจุอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สูงถึง 1.44 และ 1.52 หลังเกิดพายุเตี้ยนหมู่ คณะนักวิจัย จึงเผยผลการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายวันสองสัปดาห์ล่วงหน้าถึงวันที่ 14 ตุลาคมของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่โดยอาศัยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ด้วยอัลกอรึทึม (Long Short–Term Memory, LSTM) พบว่า ต้นสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังบ่งชี้ว่า ปริมาณน้ำไหลเข้าของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีแนวโน้มลดลงในปลายสัปดาห์ที่ 2

อย่างไรก็ดี ผลการกำหนดปริมาณการระบายน้ำล่วงหน้าด้วยแบบจำลองการโปรแกรมเชิงข้อจำกัด (Constraint Programming Model, CP) โดยอาศัยข้อมูลพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและข้อมูลปริมาณ Sideflow ล่วงหน้าถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2564 แนะนำให้ระบายน้ำขั้นต่ำจากทุกเขื่อน สอดคล้องกับลักษณะผลการระบายน้ำจริงที่ผ่านมา ยกเว้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำสูงถึง 103.73 ล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ทางด้านท้ายเขื่อนต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกินความจุอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยปริมาณน้ำไหลหลากจากทางตอนบนของพื้นที่ลุ่มน้ำ และอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่อย่างฉับพลัน

📍พื้นที่ประสบน้ำท่วม และพื้นที่ที่มีแนวโน้ม

จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 พบว่า พื้นที่ทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมคิดเป็น 4,168 ตารางกิโลเมตร (2,605,000 ไร่) แยกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 942,694 ไร่ หรือคิดเป็น 9.94% ของพื้นที่เพาะปลูกจริงสะสมในปี พ.ศ. 2563/2564 และคาดว่าในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้านี้ พื้นที่เกษตรกรรมในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก มีแนวโน้มได้รับผลกระทบเพิ่มสูงขึ้นจากอิทธิพลของน้ำท่วมไหลหลากจากพื้นที่ภาคกลางตอนบน การระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนทดน้ำพระรามหก และแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วยการตัดยอดน้ำโดยการกระจายน้ำเข้าระบบคลองส่งน้ำ

วช #อว #วิจัยและนวัตกรรม #น้ำท่วม2564 #พายุเตี้ยนหมู่

วช. หนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยกระดับการเลี้ยงแพะในภาคอีสาน สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 อัตราการว่างงานในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นทวีคูณ กระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตประจำวัน กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจลดลงอย่างรุนแรง การว่างงานเพิ่มขึ้น และรายได้จากการทำงานลดลง แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น แต่จากอุปสรรคในการพัฒนาจึงทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากยังไม่บรรลุเป้าหมาย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า จากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งผลให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในชนบท ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในสภาพที่ไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะขาดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่สามารถรองรับแรงงานที่อพยพคืนถิ่น และตอบโจทย์ในการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนในการประกอบอาชีพได้ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนอย่างครบวงจร สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นความสำคัญของการวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในระยะยาว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การประยุกต์เทคโนโลยีชีวภาพและการสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อผลิตพ่อแม่พันธุ์แพะในประเทศไทย” แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ

รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ เปิดเผยว่า ในบรรดาปศุสัตว์ที่สามารถขับเคลื่อนและสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานรากได้ในระยะเวลารวดเร็วคือการเลี้ยงแพะ เพราะใช้ระยะเวลาเลี้ยงเพียง 1 ปี ก็ให้ผลตอบแทนได้ สามารถขายได้ทั้งในรูปแบบเนื้อชำแหละหรือขายทั้งตัว แต่เนื่องจากผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีข้อจำกัดทั้งเงินทุนและความรู้ การเลี้ยงแพะจึงยังคงอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม คือ เลี้ยงแบบปล่อยฝูง ปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรมชาติ โครงการ ฯ จึงเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยเพื่อยกระดับและมาตรฐานในการเลี้ยงแพะให้เป็นฟาร์มปลอดโรคที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ การพัฒนาการผลิตพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีคุณภาพด้วยวิธีการผสมเทียม การจัดการดูแลแพะเพื่อเพิ่มอัตราการติดลูก การเพิ่มมูลค่าเนื้อแพะด้วยการแปรรูปและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการอบรมให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ครอบคลุมในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) เทคโนโลยีชีวภาพด้านชีววิทยาการสืบพันธุ์ในแพะแม่พันธุ์ (2) เทคโนโลยีชีวภาพการทำงานของรังไข่ มดลูก รก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์แม่พันธุ์แพะ และ (3) เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อการผสมเทียมและธนาคารอสุจิแพะพ่อพันธุ์

ผลจากการดำเนินงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา จากการใช้น้ำเชื้อสดและน้ำเชื้อแช่แข็งผสมเทียมแพะ เสริมด้วยอาหารสมุนไพรที่สกัดจากว่านชักมดลูก ช่วยให้แพะตั้งท้อง คลอดลูกง่าย มดลูกเข้าอู่เร็ว สามารถเพิ่มอัตราการติดลูกแพะของเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากแต่เกษตรกรก็พึงพอใจเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตสัตว์ได้ถึง 40 เปอร์เซนต์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จากภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ จำนวนกว่า 200 คน จะให้การสนับสนุนเพื่อสร้างเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีชื่อว่า “โครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือ (สตารท์อัพ) เพื่อผลิตแพะเชิงพาณิชย์” ซึ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ตามความสนใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ คือ กลุ่มเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้การผสมเทียมแทนการผสมพันธุ์โดยพ่อพันธุ์แพะ เพื่อจำหน่ายพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐาน โดยยกระดับเป็น ฟาร์ม GFM ฟาร์มปลอดโรคบูลเซลล่า เกรด B และผลักดันให้มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และปัจจัยการผลิต รวมทั้งหมุนเวียนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์แพะในฝูงเดียวกัน

สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่สนใจด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น เนื้อ สเต็กแพะ ลูกชิ้น ไส้อั่ว แกงมัสหมั่นน่องแพะ แจ่วฮ้อนเนื้อแพะ (สุกี้อีสาน) เกษตรกรในแต่ละกลุ่มจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านลงไปให้ความรู้และคำปรึกษา และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย จึงมีการจัดตั้งธนาคารน้ำเชื้อแพะขึ้นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งและการผสมเทียมแพะ การวิจัยพัฒนาคุณภาพน้ำเชื้อให้มีความแม่นยำในการผสมเทียมมากขึ้น เน้นการผลิตน้ำเชื้อแพะแช่แข็ง 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์บอร์ พันธุ์แองโกลนูเบียน และพันธุ์พื้นเมือง ขณะนี้ได้เปิดให้บริการเกษตรกรใน 2 รูปแบบ คือ 1) บริการผสมเทียม โดยเปิดอบรมหลักสูตรการผสมเทียมเป็นแบบนอนดีกรี คือมาเรียนแล้วเก็บหน่วยกิตสะสมเอาไว้ จนกระทั่งหน่วยกิตสะสมเพียงพอก็ขอรับปริญญาได้ หรือนำไปประกอบการขอสินเชื่อเพื่อเลี้ยงแพะจาก ธ.ก.ส. 2) จำหน่ายน้ำเชื้อแพะ เพื่อให้เกษตรกรนำไปผสมเทียมเอง แต่เนื่องจากเกษตรกรที่มีชำนาญการผสมเทียมแพะมีค่อนข้างน้อย จึงได้เปิดหลักสูตรอบรมการผสมเทียมให้เกษตรกรด้วย ขณะนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นเพราะเพิ่งก่อตั้ง คาดว่าในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถให้บริการเกษตรกรได้เต็มรูปแบบ

“ข้าวใหม่” ร้านอาหารไทยสุดพรีเมี่ยม ย่านเสนานิคม

“ข้าวใหม่”
ร้านอาหารไทยรสดีที่เคล้าคลุ้งปรุงรสบรรยากาศการรับประทานด้วยความคลาสสิค

ร้านอาหารไทยรสดีที่เคล้าคลุ้งปรุงรส สุดพรีเมี่ยม

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากก็คือธุรกิจร้านอาหาร อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการให้สามารถเปิดนั่งรับประทานภายในร้านได้ ดูเหมือนว่าร้านอาหารต่างๆจะเริ่มกลับมาสู่ความคึกคักอีกครั้งในปัจจุบัน

“ข้าวใหม่”

ร้านอาหารไทยสุดพรีเมี่ยม ย่านเสนานิคม เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่สิ่งที่ร้าน “ข้าวใหม่” มีพิเศษกว่าร้านอื่นๆก็คือ เมนูอาหารที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และบรรยากาศภายในร้านที่ถูกเคล้าคลุงปรุงรสด้วยความคลาสสิคอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้าน

ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และ ทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในเจ้าของร้านกล่าวว่า “ร้านข้าวใหม่ในปัจจุบันผมกับภรรยา ( คุณศลิษา โมนยะกุล ) ช่วยกันดูแลอยู่ โดยเป็นร้านที่สืบทอดมาจากร้านข้าวใหม่ร้านแรกในเมืองทองธานี ที่เปิดให้บริการมาเป็นเวลานานนับสิบๆปีแล้ว โดยคุณป้าของภรรยาผมเป็นผู้ก่อตั้ง มาตอนหลังภรรยาได้ขอคุณป้ามาทำต่อ ผมจึงช่วยกับภรรยาดูแลต่อมา โดยย้ายทำเลมาอยู่ที่คอนโดสายลมสวีท ในซอยเสนานิคม 1 แยก 12

“แม้จะมีการเปลี่ยนทำเลที่ตั้ง แต่เมนูอาหารยังคงเป็นเมนูเดิมที่ได้สูตรดั้งเดิมตั้งแต่สมัยรุ่นคุณป้าที่เป็นผู้บุกเบิก เมนูเด่นของร้านคือ ปลากะพงเกล็ดกรอบ ที่ทางร้านจะคัดเลือกปลากะพงขนาดน้ำหนักประมาณ 7 ขีด ที่มีความสดมา บั้งลึก ย้อนเกล็ด แล้วหมักด้วยซีอิ๊วขาว เกลือ และ พริกไทย ทอดในน้ำมันร้อน ๆ เนื้อปลากะพงนุ่มเนียนลิ้น ยิ่งได้ทานคู่กับน้ำจิ้มสูตรพิเศษยิ่งทำให้รสชาติดี รวมทั้งน้ำพริกมะขามสูตรดั้งเดิมของร้าน” คุณศลิษา กล่าว

“ร้านตกแต่งด้วยบรรยากาศออกแนวคลาสสิคย้อนยุคด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้ความรู้สึกของประเทศไทยสมัยก่อน 40-50 ปี มีความโล่ง โปร่งสบาย เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกอึดอัด ซึ่งนอกจากลูกค้าจะได้ลิ้มรสชาติอาหารที่เป็นสูตรพิเศษเฉพาะตัวแล้ว ยังได้ความรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับบรรยากาศความเป็นไทยแบบย้อนยุค และของสะสมโบราณที่มีความงดงามภายในร้านระหว่างรับประทานอาหารอีกด้วย” คุณศลิษา กล่าวทิ้งท้าย

ร้าน “ข้าวใหม่” ถือเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นที่คนรักการรับประทานอาหารไม่ควรพลาด เพราะนอกจากคุณจะได้ลิ้มลองอาหารหลากหลายเมนูที่มีรสชาติอาหารที่อร่อยถูกปากแล้ว ยังได้บรรยากาศสบายๆเป็นกันเองเก็บเป็นภาพความทรงจำกลับบ้านไปอีกด้วย

 ใครสนใจแวะมาเยี่ยมชมร้านและเยี่ยมชิมอาหารกันได้ที่ร้าน”ข้าวใหม่” คอนโดสายลมสวีท พหลโยธิน 32 (เสนานิคม1) แยก 12 เปิดบริการทุกวัน 

11.00-15.00 น.และ 16.00-20.00 น.โทรศัพท์ 02-942-9755

“อลงกรณ์”ชี้ ปชป.เสนอ”จุรินทร์”หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีไม่มีนัยยะทางการเมือง ไม่ใช่การปลั๊ฟบิ๊กตู่ แนะนายกรัฐมนตรี3ข้อคลี่คลายปัญหา4กรม

เปิดใจไม่ถือสา”สิระ”แต่ขอให้สุภาพและรู้จักสัมมาคารวะ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า กรณีที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นไม่มีนัยยะใดๆทางการเมืองที่เกี่ยวโยงกับปัญหาการกำกับดูแล4กรมของกระทรวงเกษตรแต่อย่างใด เป็นเพียงการพูดถึงแนวทางหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบันและคุณสมบัติของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่ามีความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเป็นนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัยก้าวหน้าทำงานไวมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนโดยเฉพาะความสามารถในการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โควิด19 ไม่ใช่การบลั๊ฟนายกรัฐมนตรี
ต่อคำถามที่ว่าปัญหาเรื่อง4กรมของกระทรวงเกษตรฯ.จะสร้างรอยร้าวถึงขั้นถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น
นายอลงกรณ์ตอบว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น กรณีดังกล่าวไม่ใช่ความขัดแย้งในเชิงนโยบายแต่เป็นปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในการมอบหมายงานของนายกรัฐมนตรี
ซึ่งเดิมรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ.แต่มาแก้ไขคำสั่งให้รองนายกรัฐมนตรีอีกท่านมากำกับดูแล 4 กรมแยกออกไปทำให้เกิดความสับสนและทับซ้อนการบริหารของรัฐมนตรีว่าการกับรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวง ซึ่งไม่เคยมีการมอบหมายงานแบบแยกส่วนเช่นนี้มาก่อน
และขอย้ำว่าไม่ใช่เรื่องประชาธิปัตย์ทวงคืน4กรมแต่เป็นประเด็นการบริหารกระทรวงและปัญหาการไม่ปรึกษาหารือกันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
“ปัญหานี้แก้ไขไม่ยากหากมีความจริงใจต่อกันและให้เกียรติกัน
ผมมีข้อแนะนำ 3 ประการเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
1.ยกเลิกคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ฉบับดังกล่าว
2.เร่งแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามโควต้าของพรรคพลังประชารัฐโดยเร็ว
3.ควรปรึกษาหารือกับรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในกรณีมีประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแล”

ส่วนประเด็นนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐวิพากษ์วิจารณ์ตนนั้น ตนไม่ถือสา แต่ต่อไปควรใช้ถ้อยคำอย่างสุภาพมีสัมมาคารวะและมีเหตุผลให้มากกว่านี้ให้สมกับความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ

“เงินพดด้วง” ตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป

เงินพดด้วง เป็นเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายในอดีต ด้วยมีลักษณะเป็นก้อนกลม จึงเรียกว่า “เงินกลม” แต่ด้วยลักษณะปลายขาเงินที่งอและสั้นขดกลมคล้ายตัวด้วง จึงนิยมเรียกว่า “เงินขดด้วง” หรือ “เงินคดด้วง” ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น “เงินพดด้วง”

เงินพดด้วงเริ่มมีใช้ในรัชสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจมีใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง เงินพดด้วงในสมัยสุโขทัยจะมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่ยุคการผลิต 

เงินพดด้วงสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย

และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกว่า เงินพดด้วง อ.โกร่ง ศรีสวัสด์ โทร 0909862595  

วช. ส่งเสริม นักวิจัย ม.อ. ลงพื้นที่นำงานวิจัยพัฒนาแพะภาคใต้ ให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

แพะ ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่เป็นคนไทยอิสลาม จึงทำให้แพะเป็นที่ต้องการเพราะใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถหากินใบไม้ใบหญ้าได้เอง ทั้งยังให้ผลผลิตเนื้อและนม เนื้อแพะเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยได้ในระดับสูงกว่าเนื้อวัว หมู และไก
มีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ นมแพะมีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงหรือสูงกว่านมโค กระบือ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งเสริมและสนับสนุนทุนให้ แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและชุมชน สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่ไปสำรวจปัญหาจากเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาด้านแพะ ให้เลี้ยงแพะของภาคใต้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจหลักของพื้นที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ กล่าวว่า แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ ทำอาชีพการเลี้ยงแพะให้เกิดรายได้ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ทีมวิจัยได้กำหนดแผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 เริ่มจากหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องการบริโภคแพะและห่วงโซ่การผลิตแพะของภาคใต้เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการผลิต พร้อมคิดวิธีการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนมในภาคใต้ผ่านกระบวนการวิจัยด้านอาหาร การปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ และการจัดการสุขภาพแพะ รวมถึงนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยไปพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเลี้ยงแพะ ให้มีกระบวนการการแปรรูปเนื้อแพะ และน้ำนมแพะดิบมีให้มีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค

ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ “ต้นกล้าฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และเก็บตัวอย่างแพะเพื่อนำไปพัฒนาชุดตรวจโรคเมลิออยโดสิส รวมถึงมีการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและทางจุลชีววิทยาของน้ำนมดิบที่สุ่มเก็บมาจากเกษตรกร ทั้งนี้ ยังได้เจาะเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน และการตรวจรังไข่ด้วยการใช้เครื่องอัลตราซาวน์ของแพะทดลองเพื่อเตรียมการผสมเทียม การลงพื้นที่ในครั้งนี้

ทำให้ทีมวิจัยได้ข้อมูลบ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันของโซ่อุปทานแพะเนื้อ ทราบถึงปัญหาของการเลี้ยงแพะนมในภาคใต้ โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่างซึ่งมีการเลี้ยงแพะนมมากที่สุด และยังได้วางแผนปรับปรุงพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปนมแพะตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงพัฒนาการสูตรอาหารสำหรับแพะเนื้อและแพะนม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้มาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบสูตรอาหาร นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ลงไปให้ความผู้ประกอบการในการแปรสภาพและชำแหละแพะให้แปรสภาพแพะให้ได้ตามมาตรฐานฮาลาลสากล อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ ยังกล่าวต่อว่า แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ การจำหน่ายแพะและผลิตภัณฑ์จากแพะ ในอนาคตแพะจะเป็นที่ต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บริโภคจะเริ่มหันมาบริโภคเนื้อและนมแพะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เนื้อแพะมีราคาสูง จากที่เนื้อและนมแพะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

วัดใหม่สุปดิษฐาราม ช่วยสังคมยุคโควิด 19 ดึงนวดสัปปายะ แพทย์แผนไทยชั้นครู ดูแลสุภาพตามแผนโบราณ

ช่วยหมอนวดให้มีงานทำ

นครปฐม – 1 ตุลาคม 2564 พระครูปฐมชยาภิวัฒน์ (พระอาจารย์เต่า) เจ้าอาวาส วัดสุปดิษฐาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กล่าวว่า ที่วัดฯ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาทำบุญ กราบไหว้ขอพร พระสีวลีองค์ใหญ่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หลวงพ่อปากแดง พระนอนปางเสวยสุข เป็นต้น
วันนี้ทางวัดได้จัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมซึ่งได้รับความเดือดร้อนยุคโควิด 19 โดยเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ทำอาชีพหมอนวดแผนไทย ที่ตกงาน ว่างงานมาเกือบปีแล้ว อาตมา จึงอยากช่วยเหลือให้พวกเขาได้มีงานทำ

จึงได้ร่วมกับร้าน นวดสัปปายะ เปิดนวดแผนไทยแบบโบราณ เพื่อสุขภาพ จะได้ช่วยเหลือ ให้หมอนวดแผนไทยเหล่านั้น ได้มีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว

โดยอาตมาไม่ได้เก็บค่าเช่าที่ โดยเร่งรัดให้รีบเปิด ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้เร็วๆ นี้ ทั้งนี้อาตมาได้กำชับเรื่องการป้องกันด้านความปลอดภัยจากเชื้อโรคโควิด 19 ตามมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุข กำหนดทุกประการ
คุณนารินทร์รัตน์ ราศรีชัย เจ้าของกิจการ นวดสัปปายะ กล่าวว่า ช่วงเกิดโรคโควิด 19 ระบาด หมดนวดแผนไทย ได้รับความเดือดร้อนจากการว่างงานเป็นจำนวนมาก ตามคำสั่งของศบค.ให้หยุดกิจการร้านนวดแผนไทย – สปา จึงอยากช่วยให้เพื่อนๆ ที่ว่างงานได้มีงานทำ

ดิฉันจึงขอความเมตตาจากท่านพระครูปฐมชยาภิวัฒน์ (พระอาจารย์เต่า) ขออนุญาตใช้สถานที่บริเวณวัด โดยท่านยินดีช่วยเหลือเต็มที่…. จัดที่ติดริมแม่น้ำนครชัยศรี เปิดบริการ นวดสัปปายะอย่างเป็นทางการซึ่งบรรยากาศ ดีมาก คาดว่าจะเปิดได้เร็วๆ นี้
คุณนารินทร์รัตน์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า นวดสัปปายะ สาขาแรก เปิดอยู่ที่พุทธมลฑล สาย 2 ได้รับตอบรับอย่างดี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการโรงงาน ย่านนั้น ฯลฯ เปิดมาแล้ว 4 ปี มี เตียงนวดแผนไทย 6 เตียง , เตียง นวดฝ่าเท้า 4 เตียง,ห้องสปา 2 ห้อง มีพนักงานให้บริการ 7 คน

สำหรับ นวดสัปปายะที่มาเปิดสาขาที่วัดใหม่สุปดิษฐาราม แห่งนี้ จะมีเตียงนวดแผนไทย 5 เตียง ,เก้าอี้นวดฝ่าเท้า 6 ตัว
โดยร้าน นวดสัปปายะ ทั้ง 2 แห่งนี้ มีมาตรฐานการป้องกันเชื้อโควิด 19 อย่างเข็มงวดเหมือนๆกัน ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด ทุกประการ เช่น
1.พนักงานให้บริการ ( หมอนวดแผนไทย) ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดฯ มาแล้ว 2 เข็ม ทุกคน
2. ลูกค้า/พนักงาน ตรวจวัดอุณหภูมิ และใส่แมส ทุกคน
3 .เสื้อผ้าลูกค้าใส่ระหว่างนวดมีการซักผ่านการฆ่าเชื้อทุกวัน
4.มีการตรวจ สวอป อย่างถูกวิธี (ATK) เมื่อลูกค้า ร้องขอ

สำหรับ สาขาที่จะมาเปิดบริการที่วัดใหม่สุปดิษฐาราม จะเปิดให้ บริการ เวลา 07.00 – 18.00 น. โดยมีค่าบริการนวดคิดราคาถูกมาก เป็นราคานวดเอื้ออาทร ค่านวดเริ่มต้น 100.บาท โดยมีคุณฐาเมภรณ์ อมรจงสุรีย์ ผู้จัดการ และคุณวิมล ศรีจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ คอยต้อนรับ
จึงอยากเชิญชวนทุกท่านที่มากราบไหว้ขอพร มาทำบุญ มาใช้บริการนวดแผนไทย เพื่อสุขภาพของท่าน.. คุณนารินทร์รัตน์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่ช่วยเหลือพลเมืองดี

กรณีถูกตีหัวได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังช่วยเหลือตำรวจ จับตัวชายอาการคลุ้มคลั่งจะทำร้ายผู้อื่น

      วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564) เวลา 14.30 น. ณ บ้านเลขที่ 40/95 หมู่ 4 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ดร.โฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสาวจิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลย ในคดีอาญา ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่มอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหาย  กรณี นายทิเบต ขอสงวนนามสกุล อายุ 18 ปี (ผู้บาดเจ็บ) พลเมืองดีถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังช่วยเหลือตำรวจจับตัวชายอาการคลุ้มคลั่งจะทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 

      สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร 3 ครั้งที่ 5/2564 และคณะกรรมการฯ ได้มีมติพิจารณาจ่าย

ค่าตอบแทนฯ ตามพระราชบัญญัติ
ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ให้แก่ นายทิเบต ขอสงวนนามสกุล อายุ 18 ปี (ผู้บาดเจ็บ) พลเมืองดี เป็นค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ จำนวน 120,815 บาท และค่าตอบแทนความเสียหายอื่น จำนวน 50,000 บาท รวมพิจารณาจ่ายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 170,815 บาท

     นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีอาญา เพื่ออำนวย ความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ) และ ส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อที่ สายด่วนยุติธรรม  โทร. 1111 กด 77

     ทั้งนี้ "หากท่านตกเป็นเป็นเหยื่ออาชญากรรม ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย โดยการกระทำผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีสิทธิได้รับการเยียวยา” โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือสอบถามได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77"

“เราพร้อมยืนเคียงข้าง “ผู้บริสุทธิ์” และจะไม่หยุดช่วยเหลือ เพื่อความยุติธรรม”

มูลนิธินักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ มอบเงินบริจาคช่วยเหลือสัตว์ป่า

วันที่ 30 กันยายน 2564

นายสมบัติ อนันตรัมพร เลขาธิการมูลนิธินักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ มอบเงินบริจาคให้องค์การสวนสัตว์
แห่งประเทศไทย จำนวน 300,000 บาท สำหรับใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือสัตว์ป่า โดยมีนายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์
แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ นางจงกลนี แก้วสด รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นผู้รับมอบ

สำหรับเงินบริจาคดังกล่าว เป็นรายได้จากการจัดงาน Run for Zoo Mini-Half Marathon 2019เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยจะนำไป
ใช้ในการช่วยเหลืออุปถัมภ์สัตว์ ต่อไป

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่มแบ่งปันน้ำใจ
ช่วยเหลือสัตว์ป่าภายในสวนสัตว์ทั้ง 6 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์ป่า ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ซึ่งสัตว์นานาชนิดเหล่านี้ยังคงต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านคุณภาพชีวิตสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพราะสวนสัตว์ถือเป็นแหล่งการเรียนรู้มีความสำคัญทั้งทางด้านการอนุรักษ์ วิจัย และเป็นแหล่งสร้างสังคมคุณธรรม ที่จะช่วยพัฒนาและต่อยอดการมีส่วนร่วมทางด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป

ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านช่องทาง Page Facebook อุปถัมภ์สัตว์ป่า กับสวนสัตว์ไทยและ www.zoothailand.org. ขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยและโอนเงินบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทยหมายเลขบัญชี 006-0-23655-8 ชื่อบัญชี กองทุนเพื่อหมีแพนด้า ซึ่งเป็นกองทุนสาธารณกุศล ผู้บริจาคจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณออนไลน์ และสามารถนำใบเสร็จรับเงินจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยไปลดหย่อนภาษีได้

สำหรับสวนสัตว์ภูมิภาค สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว โทร. 038 318 444www.facebook.com/kkopenzoo
สวนสัตว์เชียงใหม่ โทร. 053 221 179www.facebook.com/FanpageChaingMaiZoo
สวนสัตว์นครราชสีมา โทร. 083 372 0404www.facebook.com/NakhonratchasimaZoo
สวนสัตว์สงขลา โทร. 074 598 555www.facebook.com/SongkhlaZooPage
สวนสัตว์อุบลราชธานี โทร. 093 320 9369www.facebook.com/ubonzoo1217
สวนสัตว์ขอนแก่น โทร. 086 459 4192www.facebook.com/khonkaenzoo
โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ โทร. 044 558 501www.facebook.com/ElephantKingdomByZPO