วช. หนุน พระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาแนวทางสำรวจ ความคุ้มค่าการลงทุนธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ

ในแต่ละปี สังคมไทยสร้างขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมากกว่า 27.93 ล้านตันต่อปี ประเมินกันว่ามีเพียงร้้อยละ 26 หรือประมาณ 10.85 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการโดยมีบางส่วนถูกนำไปแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการ หรือถูกทิ้งกองเป็นขยะมูลฝอยตกค้างซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น ไฟไหม้บ่อขยะ ปัญหาเรื่องกลิ่น สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในขณะที่พื้นที่ที่จะใช้ในการฝังกลบขยะกลับหายากขึ้นเพราะถูกต่อต้านจากชุมชน ขยะมูลฝอยจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าขยะมูลฝอยสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าโครงการ

ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ในกองขยะมูลฝอยที่ถูกนำมาฝังกลบจะมีทั้งส่วนที่สามารถย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ส่วนที่ย่อยสลายได้ (เศษอาหาร และอินทรีย์สารต่าง ๆ) ที่มีประมาณร้อยละ 50 จะถูกย่อยสลายกลายเป็นวัสดุคล้ายดิน ซึ่งสามารถคัดแยกแล้วนำไปใช้ทดแทนดินเพื่อปิดกลบทับขยะได้ ผลจากการย่อยสลายขยะส่วนที่ย่อยสลายได้ จะเกิดเป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับขยะมูลฝอยที่ถูกฝังกลบอีกประมาณร้อยละ 50 เป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ มักเป็นถุงพลาสติกชนิดต่างๆ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ภาคเอกชนสนใจที่จะมาลงทุนขุดรื้อร่อนเพื่อนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel, RDF) “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” จึงได้พัฒนาแนวทางการประเมิน RDF ที่สามารถรื้อร่อนได้ โดยใช้เทคนิคการตรวจวัดแบบผสมผสาน ประกอบด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ในการประเมินองค์ประกอบขยะ การตรวจวัดค่าความร้อนจากผิวกองขยะด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนติดตั้งบน UAV และการตรวจวัดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนด้วย Laser Methane Detector เพื่อประเมินสภาพการย่อยสลายของขยะ รวมถึงการนำเทคนิคการสร้างแผนที่ความละเอียดสูงด้วยภาพถ่ายที่ได้จาก UAV มาใช้ประเมินปริมาตรของขยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานทำให้ได้ข้อมูลศักยภาพการพัฒนาโครงการลงทุนที่มีความแม่นยำสูง สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจว่ากองขยะที่ถูกฝังกลบมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อผลิตเป็นพลังงานหรือไม่ ผลจากการสำรวจทำให้ได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง และเมื่อนำมาคำนวณด้วยสมการที่คิดขึ้นมาจะทำให้ทราบว่ากองขยะแต่ละแห่งมีปริมาณ RDF อยู่เท่าไร และจากข้อมูลทั้งค่าความชื้น ค่าความร้อน ค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า ฯ ที่ได้จากการสำรวจเป็นหมื่น ๆ จุดจากกองขยะแต่ละแห่ง สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นรูปตัดที่สามารถระบุพิกัดได้ว่าแต่ละจุดมีปริมาณขยะพลาสติกอยู่เท่าไร พื้นที่ตรงไหนมีน้อย พื้นที่ตรงไหนมีมากพอที่จะลงทุนขุดรื้อร่อนได้ ดังนั้น ข้อมูลที่ได้มาจึงสามารถบอกได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าในบ่อขยะแต่ละแห่งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในการขุดรื้อร่อนขยะพลาสติกเพื่อนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงขยะหรือไม่ ลักษณะทางกายภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งเป็นอย่างไร มีศักยภาพในการขุดรื้อร่อนขยะอย่างไร บางแห่งอาจจะเหมาะสมสำหรับการขุดรื้อร่อนเพื่อนำขยะพลาสติกไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ แต่บ่อขยะบางแห่งลักษณะทางกายภาพไม่เหมาะสมสำหรับการขุดร่อนรื้อขยะ แต่เหมาะสมสำหรับการรวบรวมก๊าซขยะ (Landfill Gas, LFG) ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน โดยพบว่า บ่อขยะหลาย ๆ แห่ง ก็มีปริมาณก๊าซขยะมากพอที่จะทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้

ดังนั้น ข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสำรวจบ่อขยะทั้งที่เป็นบ่อขยะแบบเทกองกลางแจ้ง (Open Dump) และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เพื่อประเมินศักยภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ ตลอดจนความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการ และเป็นแนวทางในการพิจารณาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป

จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนทำธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ ดังนี้ 1) บ่อขยะที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจมีเยอะมาก เพราะส่วนมากเป็นบ่อขนาดใหญ่ 2) เนื่องจากบ่อขยะที่สำรวจวิจัยมีทั้งบ่อที่เป็นแบบเก่า ทั้งแบบเทกองกลางแจ้ง และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล แต่ละแบบมีศักยภาพในการทำธุรกิจได้ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นกับระยะเวลาในการฝังกลบ เพียงแต่ก่อนเริ่มทำเราต้องสำรวจพื้นที่ก่อนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 3) ปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงขยะควรมีปริมาณอย่างต่ำ 200,000 -300,000 ตัน 4) ระยะทางระหว่างบ่อขยะไปถึงลูกค้าปลายทางที่ใช้เชื้อเพลิงขยะไม่ควรเกิน 400 กิโลเมตร 5) บ่อที่มีความเหมาะสมในการรวบรวมก๊าซขยะ ควรเป็นบ่อขยะที่มีอายุการฝังกลบมาแล้ว 3-5 ปี เพราะขยะยัังมีการย่อยสลายอยู่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการระบายน้ำชะมูลฝอยในบ่อขยะว่าดีมากน้อยเพียงไร ซึ่งการสำรวจด้วยเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ก็สามารถให้คำตอบได้

วช. รับประกาศเกียรติคุณหน่วยงานสนับสนุนการดำเนิน รพ.บุษราคัม

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้ารับประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลบุษราคัม ที่เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในพิธีปิดโรงพยาบาลบุษราคัม โดยมี นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมในพิธีปิดฯ ณ อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าในส่วนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ นวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) พร้อมทั้งหน้ากากอนามัยชนิด KN95 และหน้ากากอนามัย N-Breeze ที่ วช.ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ไปมอบให้โรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ปี 2564 มาแถลงข่าว “วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.” เป็นผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนจนสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า วช. ได้วางกรอบแนวทางบริหารจัดการทุนไว้อย่างชัดเจน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ได้สนับสนุนการใช้วิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมิตินวัตกรรม และวิชาการ ตอบรับความต้องการของบุคลากรได้ถึง 3 เฟส ของการแพร่ระบาด และมีความก้าวหน้าเป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย วช. จึงนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา สร้างโอกาสช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19

ในวันนี้ วช. นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี บางส่วนที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 10 ด้าน มานำเสนอ ได้แก่ ด้านโควิด -19 อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ mRNA Vaccine เพื่อป้องกันการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจปัสสวะสำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน และแผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ ด้านการรองรับสังคมสูงวัย อาทิ เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ และเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ด้านการเกษตร อาทิ
ยืดอายุ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ส่งออกต่างประเทศ และยืดอายุทุเรียนเพื่อการส่งออก ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ
เครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ด้านสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารปูม้าชุมชน เพื่อความยั่งยืน และไก่พื้นเมือง และไก่ลูกผสมพื้นเมือง สู่เชิงพาณิชย์ วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ “ไก่ลิกอร์” ไก่พื้นเมืองลูกผสม สายพันธุ์ใหม่ ด้านการศึกษา อาทิ ระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านเทคโนโลยี AI อาทิ ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK) ด้านเศรษฐกิจฐานราก อาทิ มังคุดวิจัย และเศรษฐกิจฐานรากภาคเหนือตอนบน หวังเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมชุมชนในยุค New Normal (KOYORI) ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน อาทิ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขและแกนนำชุมชน เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 บริเวณพื้นที่ชายแดน และสร้างตำบลต้นแบบ 15 จังหวัด ผ่านปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในการนำเสนอในช่วงท้ายว่า วช. ให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดย วช. จะมุ่งเน้นผลงานงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงสุขภาพให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และมุ่งเน้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และจะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ วช. ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสหน้า วช.จะฉายภาพงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป

นายเกียรติภูมิ สิริพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ เดินหน้าลงทุนสร้างเมืองอัจฉริยะ มูลค่า 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่ย่านบางนา-ตราด รองรับ EEC

เมื่อวันพุธที่ 29 กันยายน 2564 เวลา 09.29 น. ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ พหลโยธิน กรุงเทพฯ นายเกียรติภูมิ สิริพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ เดินหน้าลงทุนสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้(Smart City) มูลค่า 1,000 ล้านบาท พื้นที่รวมกว่า 300 ไร่ โดยในเฟสแรกซื้อที่ดิน ย่านบางนา-ตราด กม.29 จากธนาคารกสิกรไทย จำนวน 160 ไร่ มูลค่า 220 ล้านบาท โดยมีวางเงินสัญญาซื้อ-ขายจำนวน 21.478 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพย์สินรอการขาย ของธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้รับเช็คเงินสดดังกล่าว

นายเกียรติภูมิ เปิดเผยภายหลังทำสัญญาดังกล่าวแล้วว่า การที่ตนได้เดินทางสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้บนที่ดินย่านถนนบางนา-ตราด เพราะเห็นว่ามีจุดเด่นที่เป็นยุทธศาสตร์ของโครงการคือเส้นทางทำเลทอง ในอนาคตจะมีการขยายตัวของคนกรุงเทพฯไปทางภาคตะวันออกในการรองรับ EEC ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีการกำหนดเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของเมืองไทยให้มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ทันสมัย
นายเกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เป็นเจ้าของเวบเพจ Bangkok Smart City แบงคอกสมาร์ทซิตี้ ก่อนหน้าได้เคยไปศึกษาเกี่ยวเมืองอัจฉริยะของอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนผู้อยู่อาศัย ตลอดจนนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยมีคุณภาพ เนื่องจากมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีการใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียน ลดขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการเมืองอัจฉริยะจะเริ่มเฟสแรกในปี2565 ตอนนี้เป็นช่วงการพัฒนาพื้นที่และให้พันธมิตรในการร่วมทุน ปัจจุบันมีผู้เข้ามาร่วมแล้วจำนวน 5-6 ราย ทั้งคนไทยและต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการทำเมืองอัจฉริยะ
เฟสแรกจะเป็นโครงการตัวอย่าง โดยแบ่งพื้นที่เป็น แปลงที่อยู่อาศัยจำนวน 200 กว่าแปลง ซึ่งจะมีสาธารณูปโภค มีสปอร์ตคลับ มีลากูน มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีและทันสมัย มีระบบไวไฟ อินเตอร์เน็ต มีระบบเตือนภัยที่ทันสมัย และอนาคตจะเป็นที่อยู่อาศัยในอุดมคติของพื้นฐานการดำรงชีวิตที่ดีและมีความสุข ซึ่งขณะนี้ซึ่งมีผู้สนใจจองโครงการเฟสแรกแล้ว1ใน 3 มั่นใจว่าช่วงหลังโควิด-19 เศรษฐกิจจะกลับมาบูม ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อีกทั้งยังมีถนนสี่เลนตัดเข้าสู่โครงการด้วย
จุดเด่นของโครงการอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงเทพฯ กับอีอีซีภาคตะวันออก โดยโครงการตั้งอยู่อ.บางบ่อ สมุทรปราการ อยู่ระหว่างถนนคู่ขนาน บางนา-ตราด กับมอเตอร์เวย์ หลังจากลงทางด่วนถึงโครงการใช้เวลา 15 นาที โดยเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ไปอีก 2.9 กม.ก็จะถึงโครงการ
“โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะแรกในประเทศ เนื่องจากมีองค์ประกอบครบตามมาตรฐานสากลของเมืองอัจฉริยะระดับนานาชาติ”
สุดท้ายนี้นายเกียรติภูมิ อดีตกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ฝากเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมทุนโครงการ สร้างโปรเจคเมืองอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทย ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รองรับศูนย์กลางความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าในย่านนี้

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปรับเวลาปิดให้บริการรถไฟฟ้า เป็น 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่าตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมามีมติคลายล็อกดาวน์ ซึ่งกำหนดห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนจากเดิมกำหนดไว้ 21.00 – 04.00 น. ปรับไปเป็น เวลา 22.00 – 04.00 น. ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับมติข้างต้น บริษัทจึงเปลี่ยนแปลงเวลาให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นเวลา 05.30 – 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยรถไฟขบวนสุดท้ายจะออกจากสถานีต้นทางคือ สถานีพญาไท และสถานีสุวรรณภูมิ เวลา 21.30 น. และจะถึงสถานีปลายทางเวลา 22.00 น.

ทั้งนี้ตามที่บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารในคลองแสนแสบได้ออกประกาศหยุดให้บริการในวันที่ 29 กันยายน 2564 เนื่องจากนำพนักงานทั้งหมดเข้ารับวัคซีน เข็มที่ 3 ที่สถานีกลางบางซื่อ และจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 30 กันยายน 2564 นั้น บริษัทฯขอแจ้งประชาสัมพันธ์สำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่ใช้บริการเชื่อมต่อเรือโดยสารคลองแสนแสบโปรดวางแผนการเดินทางของท่านเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สะดวกในช่วงดังกล่าว

ส่วนงานบริการลูกค้าสัมพันธ์ Call Center 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ www.srtet.co.th , www.facebook.com/AirportRailLink และ Twitter : Airport Rail Link

อว. มอบ ‘หุ่นยนต์ปิ่นโต 2’ ให้ 6 โรงพยาบาลใช้ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยโควิด-19

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จัดพิธีส่งมอบหุ่นยนต์บังคับขนาดเล็กสำหรับใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แก่โรงพยาบาล 6 แห่ง โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการส่งมอบ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะผู้บริหารหน่วยงาน อว. เข้าร่วมงาน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการส่งมอบหุ่นยนต์บังคับขนาดเล็ก (หุ่นยนต์ปิ่นโต 2) สำหรับใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในระยะแรก จำนวน 12 ตัว ให้แก่โรงพยาบาล 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก, สถาบันประสาทวิทยา, โรงพยาบาลลาดกระบัง, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์

การเปิดกิจกรรมการส่งการมอบหุ่นยนต์ปิ่นโต 2 จำนวน 80 ตัว ให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพและปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงที่มีความจำเป็นในการใช้หุ่นยนต์ช่วยส่งอาหารและเวชภัณฑ์ในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยมี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนทุนพัฒนาให้กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในการพัฒนา “หุ่นยนต์ปิ่นโต 2” ดังกล่าว เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรคติดต่ออันตรายและช่วยลดปริมาณการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น ชุด PPE เป็นต้น

สำหรับหุ่นยนต์บังคับขนาดเล็กที่ใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือ “หุ่นยนต์ปิ่นโต 2” นั้น เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์ปิ่นโต ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคุณสมบัติเด่นที่นำไปใช้ขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยการใช้รถเข็นควบคุมทางไกล ควบคุมผ่านทางรีโมทคอนโทรลระยะไกลได้ อีกทั้งมีระบบแสดงผลการเคลื่อนที่ผ่านจอแสดงผลเพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความเสียหายของอุปกรณ์ขณะใช้งาน สามารถใช้ได้ติดต่อกันนานถึง 9 ชั่วโมง และเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อช่วยลดการสัมผัสและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ และยังช่วยลดการใช้ชุด PPE ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย

วช. มอบชุด PAPR แก่ โรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา รับมือสถานการณ์โควิด-19

วันนี้ (29 กันยายน 2564) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน ส่งมอบนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ พร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) แก่ โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 10 ชุด โดยมี นางวัลลภา ทองศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รองหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาล เป็นตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสูงเนิน เข้ารับมอบ พร้อมด้วย น.ส.ธีราพร อุตชี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ป้องกัน ขณะปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับการรักษา

ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ส่งผลให้พบผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก มีการส่งต่อผู้ป่วยกลับมารักษาต่อในภูมิลำเนาเดิม การจัดสถานที่รองรับผู้ป่วยในชุมชนและในโรงพยาบาล รวมทั้งการออกให้บริการรับ-ส่งผู้ป่วยตามสถานที่พักคอยและศูนย์แยกกักในชุมชน ซึ่งบุคลากรด้านแพทย์และบุคลากรด่านหน้ามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติที่ดังกล่าว โรงพยาบาลสูงเนิน จึงแจ้งความความอนุเคราะห์ขอรับการสนับสนุนชุด PAPR มายัง วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในบริบทของประเทศ และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และวิจัยและพัฒนา ศบค. เพื่อให้บุคลากรดังกล่าวได้นำไปใช้ป้องกันตน จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือของคนไทย ผลงานของทีมนักวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำโดย นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ชุดหน้ากากส่วนหัวได้ขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ท่อลมปรับให้มีความแน่นหนา กล่องพัดลมมีความเพรียวบาง พร้อมปุ่มปรับแรงลม และเกจย์บอกระดับแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง สามารถชาร์จไฟได้ด้วยสายยูเอสบี แบบซี ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ในขณะที่คุณภาพและมาตรฐานไม่ด้อยไปกว่ากัน

“จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การต้อนรับ ที่ปรึกษาสมเด็จอัครเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา

วันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรอง ชั้น 9 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทาวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การต้อนรับ Dr. H.E. Sok Sokrethya ที่ปรึกษาส่วนตัว นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านงานพัฒนาสังคม

เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลของสองประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักการเมืองรุ่นใหม่ของกัมพูชากับของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสวงหาความร่วมมือในด้านต่างๆในช่วงที่ทั้งสองประเทศเกิดโรคระบาดโควิด และหลังจากสถานการณ์โควิดผ่านไปแล้วด้วย

รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวต้อนรับ ด้วยความอบอุ่นและขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการท่องเที่ยวจากกัมพูชาที่ให้เกียรติมาเยือนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในวันนี้ ท่านหวังว่าความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศจะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

รัฐมนตรีจากกัมพูชา ได้กล่าวในนามของรัฐบาลกัมพูชาว่า รัฐบาลกัมพูชาใคร่ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและท่านรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่รัฐบาลกัมพูชาด้วยดีมาโดยตลอด

Dr. Sok Sokrethya ได้เรียนเพิ่มเติมว่า ท่านนายกรัฐมนตรี สมเด็จฯ ฮุนเซน มีนโยบายส่งเสริมให้คนรุ่นหนุ่มสาวได้เข้ามาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในระบบราชการและในภาคการเมืองมากยิ่งขึ้น ตนเองในฐานะที่ท่านเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนรู้เรื่องการเมือง จึงมาขอเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมืองจากท่านรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

ภายหลังจากการหารือกันอย่างกระชับ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของไทย ได้เสนอเรื่องความร่วมมือสามด้านระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนี้คือ

  1. เรื่องของการแยกขยะที่ใช้แล้วซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การมีอาชีพแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนจน และการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยจะให้องค์กรเอกชนเข้าไปให้คำแนะนำ

2.การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสภาเยาวชนไทยกับสภาเยาวชนของกัมพูชา เพื่อให้เยาวชนของสองประเทศสามารถ พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเยี่ยมเยียนกันระหว่างเยาวชนสองประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนสองประเทศในระยะยาวมากยิ่งขึ้น

3.การให้ความรู้และประสบการณ์ของการเคหะแห่งชาติเรื่องการจัดสร้างบ้านให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติของไทยมีประสบการณ์ที่สั่งสมมานานตามสมควร ทั้งที่เป็นจุดอ่อนและเป็นจุดแข็ง การเคหะแห่งชาติได้มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยดีขึ้น

ทั้งเรื่องขนาดของบ้านและราคา ในปัจจุบันบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมและราคาถูกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด การเคหะแห่งชาติมีนโยบายให้คนมีรายได้น้อยได้สามารถเช่าบ้านจากการเคหะแห่งชาติได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และหากผู้เช่ามีรายได้ดีขึ้นก็สามารถที่จะขอเปลี่ยนเป็นซื้อแทนได้

นายจุติ ไกรฤกษ์ ยังได้กล่าว ยกย่องราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าเป็นประเทศที่มีมรดกทางอารยธรรมที่เก่าแก่และมีโบราณสถานทางประวัติศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยไม่อาจเปรียบเทียบได้เลย
สำหรับกัมพูชาแล้ว มีความเห็นว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ของกัมพูชาเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยกัมพูชาอาจเรียนรู้และศึกษาจากประสบการณ์การสร้างพิพิธภัณฑ์อย่างยิ่งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับกัมพูชาเป็นอย่างยิ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังเห็นว่าสำหรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชา ซึ่งกำลังเริ่มต้นจะมีข้อได้เปรียบ เพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยที่ผ่านมาทั้งด้านบวกและด้านลบ

การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของกัมพูชาควรสนใจการดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาไทยเรายังมีจุดอ่อน ท่านมั่นใจว่ากัมพูชาน่าจะสามารถทำได้ดีกว่าประเทศไทยเนื่องจากมีประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก สถานที่ท่องเที่ยวประเภทนี้ในกัมพูชาจะเป็นประโยชน์และความสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฝรั่งเศส

นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้เสนอแนะในเรื่องการท่องเที่ยว ว่า กัมพูชาควรส่งเสริมเรื่องการทำอาหารฝรั่งเศสและอาหารพื้นเมืองของกัมพูชาควบคู่กันไป และน่าจะเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกัมพูชา ด้วย

บรรยากาศช่วงท้าย รัฐมนตรีทั้งสองท่าน ได้จับมือแสดงความเป็นมิตรแท้ของประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ทั้งสองประเทศไปพร้อมๆ กัน

รมว.ยุติธรรม รับมอบถุงยังชีพ 1,000 ถุงจาก บีทีเอส กรุ๊ป หวังช่วยเทาทุกข์ชาวบ้าน

พร้อมกำชับ ผบ.เรือนจำเฝ้าระวังอย่าให้น้ำทะลักเข้าคุก หวั่นเกิดโรคระบาด จี้ยุติธรรมจังหวัด เร่งทำงานเชิงรุกช่วยประชาชน

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ และนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับมอบถุงยังชีพ 1,000 ถุง จากนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยในถุงยังชีพประกอบด้วย ข้าสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมกล่อง ปลากระป๋อง ชุดยาเบื้องต้น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์กันยุง และน้ำดื่ม 200 แพ็ค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถุงยังชีพชุดนี้ตนจะนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยจากสถานการณ์อุทกภัยทั่วประเทศ มีพื้นที่หลายแห่งประสบปัญหา และต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ป.ภ.) รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เช่น สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ชัยภูมิ นครราชสีมา จันทบุรี ตราด และพังงา นอกจากนี้ยังมีถนนและสะพานหลายแห่งถูกน้ำพัดจนชำรุด โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรมได้กำชับ ผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่าให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมเรือนจำ เพราะขณะนี้มีการระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว หากน้ำไหลท่วมเข้าไปอีกจะทำให้เกิดความยากลำบากในการดูแลผู้ต้องขัง และอาจจะมีโรคระบาดอื่นๆตามมาได้

“ในส่วนของ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ขอให้เร่งดูแลสอดส่องช่วยเหลือประชาชน ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ สอบถามว่าให้ช่วยเหลือตรงไหนอย่างไรบ้าง หากมีอะไรที่ทำได้เลยก็ขอให้รีบลงมือทำ เพราะประชาชนในหลายพื้นที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เราต้องทำงานเชิงรุกเข้าถึงให้ประชาชน ตามนโยบาย ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน”นายสมศักดิ์ กล่าว

“เอนก” หนุนใช้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยผู้ป่วยจัดการตัวเองจากโควิด-19 ได้เพื่อลดภาระของแพทย์ พยาบาล ชี้ไทยผ่านวิกฤติได้เพราะคนไทยมีวินัยและมีคนเก่งกระจายตัวในที่ต่างๆ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) สำนัก งานตำรวจแห่งชาติ ศ.ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมลงนาม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า อว.

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกหน่วยที่มาร่วมมือกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด – 19 โดยเฉพาะ วช. ที่เป็นหน่วยให้ทุนสนับสนุน ที่สำคัญ วันนี้ (28 ก.ย.64) เป็นวันแรกในรอบ 2 เดือนที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยต่ำกว่า 1 หมื่นคน ที่ผ่านมา ตนไปตรวจเยี่ยมที่ไหนก็จะเน้นย้ำตลอดว่า เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพราะเชื่อเสมอว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวยากมาก เพราะคนไทยมีลักษณะพิเศษ คือ มีความเมตตาสูง พร้อมช่วยเหลือกัน มีการระดมบริจาคกันมากมาย แม้คนที่ลำบากก็ยังจะมีน้ำใจกับผู้อื่น เราถึงสู้ได้ในทุกวิกฤติ ที่สำคัญ คนไทยมีวินัยมากพอ รู้ว่าเวลาใดควรเข้มงวดกับตนเอง ไม่เช่นนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาคงไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดี และเรายังมีคนเก่งกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย อย่าง อว. ก็พร้อมเป็นกองหนุนสนับสนุนการทำงานของ สธ. ทั้งการเปิด รพ.สนาม การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน นำบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาสนับสนุนการทำงานทุกด้าน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงงานวิจัยต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เช่น การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยให้ผู้ป่วยจัดการตัวเองได้ เพื่อลดภาระของแพทย์และพยาบาล นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังสนใจใช้เทคโนโลยี AI ของ อว. ในการป้องกันอาชญากรรม ซึ่ง อว. ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI ไปสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Arificial Inteligence) มาใช้ประโยชน์ในการร่วมป้องกันโควิด -19 โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการโครงการเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชนในช่วงโควิด-19″ และในระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครและบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในการสร้างระบบวิเคราะห์ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อวิเคราะห์การสวมหน้ากากอนามัยและการสัญจรของภาคประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีการรายงานผลการวิเคราะห์ไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และมีการสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่อว่า วช.เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด–19 ภาย ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์/เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการคัดกรองและสนับสนุนการป้องกันสุขภาพประชาชน ได้แก่ การส่งเสริมการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง การส่งเสริมการเว้นระยะห่าง การให้ความรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อการรับรู้สุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถพัฒนาระบบตรวจจับหน้ากากอนามัย การพัฒนาระบบการเว้นระยะห่าง และระบบหลังบ้านที่ใช้ในการบริหารการเฝ้าระวัง โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลหรือดาต้าวิชวลไลเซชั่น (Data Visualization) จากข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ในการประเมินพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและขอความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบประเมินและติดตามการใส่หน้ากากอนามัย ระบบวัดการเว้นระยะห่างจะช่วยทำให้มีข้อมูลนำเสนอต่อภาครัฐ รวมไปถึงภาคประชาชน ในการให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวจากโรคระบาดในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคต่าง ๆ

ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK) ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ เพื่อประมวลผลการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน ซึ่งระบบเอไอดังกล่าวนี้ มีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากสามารถที่จะติดตามและวัดผลว่าประชา ชนในแต่ละพื้นที่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ใส่ รวมทั้งมีการใส่แต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบสามารถประมวลผลอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือในเวลาใด รวมทั้งใช้ในการประเมินภาพรวมว่าได้มีความเข้มงวดหรือระมัดระวังในการป้องกันการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการ์ดสูงหรือการ์ดตก รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังและหาบริเวณที่มีความเสี่ยงเพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงได้ล่วงหน้า ทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการเตือนประชาชนให้กระชับมาตรการในบางช่วงบางเวลาได้ด้วย ทั้งนี้ยังจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการผ่อนคลาย