สยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยาม) เตรียมเปิดให้บริการ 3 พ.ย.นี้


หลังจากสยามอะเมซิ่งพาร์ค ปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid -19 ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา

ล่าสุดได้มีประกาศจากกรุงเทพมหานคร ให้สวนน้ำสวนสนุกสามารถเปิดให้บริการได้ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องด้านการ
ท่องเที่ยว พร้อมกับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ
สยามอะเมซิ่งพาร์ค (Siam Amazing Park) ผู้นำในการให้บริการสวนน้ำและสวนสนุกของประเทศไทย

 จึงได้เตรียม
เปิดให้บริการอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
เป็นต้นไป

ภายใต้มาตงฐาน SHA + จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าใช้บริการเพิ่มเติม อาทิ มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบ
ครอบจักรวาล (Universal Prevention) รวมทั้งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กs(Covid Free Seting)
มั่นใจสูงสุดด้วยพนักงานบริการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส เข้มแข็งด้วยมาตรฐานการบริการ UP-

DMHTA ทำความสะอาดจุดสัมผัสบนเครื่องเล่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้บริการแต่ละรอบ จัดระยะห่างบนเครื่องเล่น
และทุกพื้นที่บริการ จัดให้มีแอลกอฮอล์ล้างมือทั่วบริเวณ พื้นที่โปร่งกว้างขวาง อากาศถ่ายเทสะดวก จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ
1 คนต่อ 4 ตารางเมตร

โปรโมชั่นออนไลน์ราคาพิเศษจำนวนจำกัด “Welcome Back #season3” เล่นสวนน้ำและเครื่องเล่นได้ทุกชนิด
บัตรรายวัน Adult Adventure Pass ราคาเพียง 300 บาท (ปกติ 900 บาท) และบัตรรายปี Annual Adventure Pass
เพียง 900 บาท (ปกติ 2,000บาท) ซื้อได้แล้ววันนี้ที่ www.siamamazingpark.com/promotion-online และที่ 7-Eleve
ทุกสาขา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.siamamazingpark.com หรือ line: @siamamazingpark

อว.มอบ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” รับมือเปิดประเทศ หวังผลต่อยอดเชิงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานส่งมอบ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19”

 ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ,และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีนางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และพลโทพิเศษ ศิริเกษม รองเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัวรอง ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (ผู้แทนสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904) เป็นผู้รับมอบฯ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กล่าวว่า ขอชื่นชมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทยที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้คนไทยได้อยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพร้อมรับการเปิดประเทศ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤติโควิด คนไทยปรับตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราสามารถเร่งผลิตภาพได้สูงขึ้นมาก ผลิตวัคซีนได้ทันกับประเทศแนวหน้าของโลก

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทย ที่เราสามารถผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกัน ยังผลิตห้องความดันลบ ชุด PPE หน้ากากความดันบวก ฯลฯ ที่ราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” ก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งฝีมือคนไทยจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา หลังจากนี้ ตนหวังว่าจะได้เห็นการนำนวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์นี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนนำไปผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด และสำหรับนักวิจัย ขอแจ้งข่าวดีว่า ขณะนี้ อว. เปิดช่องให้นักวิจัยหรืออาจารย์สามารถนำผลงานประดิษฐกรรมหรือนวัตกรรมเหล่านี้มาเสนอขอรับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องทำเป็นผลงานทางวิชาการหรือตำรา เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง

รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 จาก วช. การใช้งานของนวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน สามารถเลือกใช้งานได้ถึง 3 ระบบจากการสั่งงานผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาทิ การอบฆ่าเชื้อด้วยก๊าซโอโซน การอบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV– และการอบฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยควบคุมการทำงานด้วยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวร่วมกับระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง จะช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมการทำงานในแต่ละระบบได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้ใช้งาน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่นำไปฆ่าเชื้อด้วยตนเองได้

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในการพัฒนานวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19สำหรับการฆ่าเชื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลขนาดเล็กทั่วไป เช่น กุญแจ แว่นตา นาฬิกา รวมถึงเหรียญและธนบัตร ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อลงได้ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ 

วช. เสริมแกร่ง นวัตกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับเห็ดป่าไมคอร์ไรซา พื้นที่ต้นแบบ จ.แพร่

วันนี้ 31 ตุลาคม 2564 ที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก รับโจทย์และสนับสนุนการบูรณาการการขับเคลื่อน โครงการชุมชนไม้มีค่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า เพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดย วช. ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุน และขยายผลให้นักวิจัยทำงานร่วมกับพื้นที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการในรูปแบบให้เกิดกล้าไม้ ขยายผลให้มีพืชทางเลือกภายใต้ร่มเงาไม้มีค่า ซึ่งการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาเป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญของนักวิจัย จาก วว. ผสานการทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้ต้นทุนไม่สูง เป็นอาชีพที่เกษตรกรคุ้นเคย มีมูลค่าทางการตลาดสูง อีกทั้ง พื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่มแห่งนี้ยังมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกเห็ดดังกล่าวอีกด้วย

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วว.มีประสบการณ์ด้านการวิจัยเห็ดมานานกว่า 20 ปี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับป่าชุมชน ในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า ให้ชุมชนเกษตรกรรักษาและอาศัยประโยชน์จากป่า ทำให้งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ วว.ได้ลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชนเป็นอย่างดี นับเป็นการขับเคลื่อน BCG Model ของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้

มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและป่าที่อุดมสมบูรณ์

นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ปลัดจังหวัดแพร่ กล่าวว่า นวัตกรรมการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม สร้างแหล่งอาหาร โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดป่า เข้ามาหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จนได้เป็นชุมชนแบบอย่างด้านการพัฒนา ด้วยป่าชุมชนบ้านบุญแจ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและป่าไม้เป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดแพร่ นำมาสู่การเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” บ้านบุญแจ่ม ในวันนี้

พร้อมกันนี้ ดร.สุจิตรา โกศล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า พืชผักในพื้นที่ป่าเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน ที่เจริญและเกิดดอกโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างรากับระบบรากของพืชชั้นสูงแบบเกื้อกูลกัน แต่เมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก ทำลาย เพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวจนถึงขั้นวิกฤต จึงกระทบไปถึงการให้ผลผลิตของอาหารป่า และสภาพภูมิอากาศโลก ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไม้มีค่า หรือพืชเศรษฐกิจในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ในรูปแบบของวนเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม ชุมชนลดการใช้สารเคมี สามารถสร้างรายได้ได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งสองประเภท สร้างความมั่นคง ด้านอาหารชุมชนและระบบนิเวศป่า

สำหรับชุมชนบ้านบุญแจ่ม คณะนักวิจัย พบเห็ดพื้นบ้านป่าที่สามารถกินได้ จำนวน 9 สกุล 16 ชนิด เช่น เห็ดน้ำหมาก เห็ดหน้าม่อย เห็ดน้ำแป้ง ร้อยละ 75 ของเห็ดที่กินได้ จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซาที่พบเฉพาะในป่าเต็ง-รัง ซึ่งมีไม้วงศ์ยาง ได้แก่ เต็ง รัง และยางพลวง คณะนักวิจัยจึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา อาทิ การเตรียมกล้า การผลิตและเติมหัวเชื้อ การเตรียมพื้นที่ ตลอดจนการบำรุงดูแล ร่วมกับการปลูกไม้มีค่าในพื้นที่อย่างเหมาะสม พืชยืนต้น อาทิ ยางนา สัก ตะเคียนทอง พืชไม้ผล อาทิ ผักกูด มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ และพืชประดับตกแต่ง เพื่อสร้าง Model ให้เกษตรกรและพื้นที่อื่นที่สนใจ โดยทดลองนำเชื้อเห็ดตับเต่าดำ ที่เพาะเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดข้าวฟ่าง หรือ บนอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว ไปใส่ลงบริเวณโซนรากของต้นหางนกยูงไทย ซึ่งเป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่า อายุ 1 ปี และดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เห็ดตับเต่าเจริญออกดอก ให้ผลผลิตจำนวนมากตลอดทั้งปี ดอกเห็ดมีขนาดโต สมบูรณ์ มีน้ำหนักระหว่าง 100-700 กรัมต่อดอก ขายได้ราคาแพง และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพของพืชเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าปกติ 2-3 เท่าด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพันธ์ุไม้ยืนต้น 58 ชนิด ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูก เกษตรกรยังสามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้

เห็ดป่าไมคอร์ไรซา มีส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 2 ประเภท คือ เอนโดไมคอร์ไรซา และ เอคโตไมคอร์ไรซา โดยมีทั้ง กลุ่มเห็ดกินได้ กลุ่มเห็ดกินไม่ได้ และกลุ่มเห็ดพิษ ความหลากหลายของเห็ดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยสภาพสิ่งแวดล้อม หรือ ระบบนิเวศป่าไม้ ซึ่งไมคอร์ไรซาสามารถเจริญอยู่ร่วมกับรากพืชชั้นสูงในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน เส้นใยของราทำหน้าที่ช่วยระบบรากพืชในการดูดน้ำและธาตุอาหารจากดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูดซับธาตุฟอสเฟตให้แก่พืช ส่วนราจะได้รับสารอาหารจากพืชเพื่อการดำรงชีวิต

ทบ.จัดพิธีทอดกฐินสามัคคีประจำปี 2564 กลุ่ม”พญาต่อ”ร่วมแจกโรงทาน.

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 64 ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)เป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคีกองทัพบก ประจำปี 2564 พร้อมด้วย พล.อ.อภินันท์ คำเพราะ รอง ผบ.ทบ. พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก(ผช.ผบ.ทบ.)พล.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง ผช.ผบ.ทบ. พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบ(เสธ.ทบ.) และนายทหารระดับสูงทบ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย และเพื่อเป็นทุนในการดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานตามวัตถุประสงค์ของวัดต่อไป ทั้งนี้มียอดกฐิน จำนวน 4,244,859 บาท โดยในงานใด้มีการทำโรงทานแจกให้ประชาชนที่มาร่วมงาน

โดยในงานนี้มีกลุ่ม”พญาต่อ”นายโชคภิวัสร์ เลิศสุรสีห์ นายกสมาคมสื่อมวลชน ดิจิทัล-ประธานองค์การประชาชนเพื่อประชาชน พร้อมด้วยนายจิรวัฒน์ รุ่งอัครเศรษฐี(เชฟคำมูล)นายเกียรติคุณ โปณสุวรรณ(กบชุดขาว)ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา, ส้ม-ชนากานต์ ชัยศรี อดีตมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี 1990,ดร.พีรวัฒน์-ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ ประธานกต.ตร.กทม.(ภาคประชาชน)ประธานกต.ตร.บก.น.1,ประธานกต.ตร.บก.สายตรวจและปฏิบัติการประธาน.กต.ตร.สน.ชนะสงคราม และรองประธานที่ปรึกษากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมกันแจกข้าวโรงทานในงานนี้ด้วย.

ดังนั้น”นายโชคภิวัสร์(พญาต่อ)และนายจิรวัฒน์(เชฟคำมูล)ดร.พีรวัฒน์-ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ,นายเกียรติคุณ(กบชุดขาย) ส้ม-ชนากานต์ อดีตมิสไทยแลนด์เวิลด์ จึงอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแจกโรงทานเพื่อช่วยเหลือ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 พื่อให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน.

“อลงกรณ์”เล็งฟื้นส่งออกเกลือทะเลไทย ประสานฑูตเกษตรฑูตพาณิชย์เปิดตลาดจีน

พร้อมดึงสภาอุตสาหกรรมจับคู่สหกรณ์นาเกลือกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มยอดขายในประเทศ มอบบอร์ดเกลือฟื้นฟูประเพณี”แรกนาเกลือ”สร้างคุณค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เปิดเผยวันนี้(30ต.ค)ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/ 2564 โดยผ่านระบบประชุมทางไกล (ZOOM Cloud meeting) พร้อมด้วย คณะกรรมการ อาทิ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ประธานคณะทำงานAd-Hocเกลือ นายสมศักดิ์ อยู่รอด รักษาการรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายคทาวุธ บุญมา ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทย 

ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในฐานะศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านเกลือทะเล (Salt Academy :AIC-COE)สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้แทนเกษตรกรชาวนาเกลือ โดยมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ เข้าร่วมประชุมหารือและพิจารณาการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
(1) การจ่ายเงินช่วยเหลือโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564 วงเงิน 12,570,300 บาท เพื่อระบายเกลือทะเลค้างสต็อกปี 2562/63 ปริมาณ 48,817.20 ตัน ในแหล่งผลิตสำคัญ ในอัตราตันละไม่เกิน 250 บาท ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุมัติหลักเกณ์วิธีปฏิบัติให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้ช่วยเหลือตามจานวนพื้นที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ที่เริ่มบังคับใช้ 1 กันยายน 2564 (3) การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปี 2566 -2570 พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานโครงการ และงบประมาณ บรรจุลงในแผนปฏิบัติงาน และ (4) รายงานจากคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล (Ad Hoc) ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้ประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกลือทะเลไทย ในปี 2565 ในระยะเร่งด่วน
คณะกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้ประธานช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเกลือที่ประสบปัญหาหนี้สินโดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ แผนการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยและตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคี เกษตรกร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการการพัฒนาเกลือทะเลไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการผลิตเกลือและการพัฒนากระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการผลิต ขยายสู่อุตสาหกรรมอาหาร คณะกรรมการฯ พร้อมลงพื้นที่ประสานความร่วมมือกับกลุ่มภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยจะนำวาระเกลือทะเลเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)ในการประชุมครั้งหน้าเพื่อจับคู่ธุรกิจระหว่างสหกรณ์เกลือกับโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและโรงงานต่างๆและมอบหมายคณะทำงานเฉพาะกิจจัดประชุมกับผู้ค้าเกลือเพื่อร่วมมือกันในการสร้างระบบการค้าและราคาที่เป็นธรรม
นายอลงกรณ์ได้มอบหมายสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรในต่างประเทศร่วมกับทูตพาณิชย์ช่วยกันเปิดตลาดเกลือเพื่อฟื้นฟูการส่งออกเกลือทะเลไทยดังเช่นที่เคยทำมาหลายร้อยปี
นอกจากนี้ยังสั่งการให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ศึกษาฟื้นฟูพิธีการทำขวัญนาเกลือ และการจัดงานพิธีแรกนาเกลือซึ่งเป็นประเพณีในอดีตแต่ได้สูญหายไปนับเป็นวัฒนธรรมนาเกลือและชาวนาเกลือเช่นเดียวกับพิธีแรกนาขวัญอันเป็นวัฒนธรรมชาวนาและนาข้าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการทำนาเกลือของประเทศ
สำหรับสถาบันเกลือ(Salt Academy)กำลังเร่งการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำการผลิต การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาดโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสถาบันอาหารรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์เกลือทะเลไทย

ปั่นน้ำใจแจกข้าวกล่องช่วยประชาชน ฝ่าวิกฤตโควิด-19

วันเสาร์ที่ 30 ต.ค 64 เวลา 11.00 น.ที่ร้านข้าวแกง 100 หม้อ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร นายโชคภิวัสร์ เลิศสุรสีห์(พญาต่อ) นายกสมาคมสื่อมวลชน ดิจิทัล-ประธานองค์การประชาชนเพื่อประชาชน

พร้อมด้วยนายจิรวัฒน์ รุ่งอัครเศรษฐี(เชฟคำมูล)นายกิตติพันธ์ ขันติศีลชัย นายกสมาคมช่างภาพ สื่อมวลชน ดิจิทัล,นายเกียรติคุณ โปณสุวรรณ(กบชุดขาว) ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา,นายรัฐณกรณ์ อมรวีระวัฒน์(ชาติพยัคฆ์)นางสาวธนาภา สายศรี(ภรรยา),ดร.พีรวัฒน์-ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ ประธานกต.ตร.กทม.(ภาคประชาชน)ประธานกต.ตร.บก.น.1,ประธานกต.ตร.บก.สายตรวจและปฏิบัติการประธาน.กต.ตร.สน.ชนะสงคราม และรองประธานที่ปรึกษากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมกันแจกข้าวกล่องช่วยประชาชน ฝ่าวิกฤตโควิด-19

วช. จัดเวทีเสวนาเปิดให้บริการฐานข้อมูล Big Data ในวาระครบรอบ 62 ปี

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

จัดเสวนาความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และการเปิดให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางด้าน ววน.ของประเทศ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 62 ปี โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลให้เกียรติร่วมเสวนา

     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วช.ได้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศจนต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวง อว. ขึ้น ทำให้ภารกิจของ วช.ในฐานะหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยต้องสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติให้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทุนในรูปแบบออนไลน์ ใช้งานง่าย ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น การจัดการระบบสารสนเทศเพื่อใช้งานแบบออนไลน์ จึงมีความสำคัญในยุคดิจิทัล วช.ได้ริเริ่มจัดการระบบฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.2549 นำโดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เพื่อใช้เป็นกลไกการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ในลักษณะมี Big Data ของประเทศ เพื่อให้ข้อมูลที่กระจัดกระจายมารวมกัน ซึ่งปัจจุบันระบบมีประสิทธิภาพสูง เห็นภาพของการวิจัยตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดโครงการ

ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน ววน. กล่าวว่า การมี Big Data ของประเทศในงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยลดความซ้ำซ้อน เกิดกลไกที่เป็นระบบมากขึ้น และเกิดการจัดทำแผนงบประมาณและบูรณาการการวิจัยของประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันมีความสมบูรณ์แล้ว ร้อยละ 90 และคาดว่าจะสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ในส่วนกลาง และสามารถเข้าถึงง่าย ทันสมัย มีมาตรฐานเชื่อถือได้ และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผลงานวิจัยได้ดี เมื่อมีการจัดทำฐานข้อมูลจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด

ขณะที่ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลสารสนเทศทางการวิจัย เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศที่ดีที่สุด ขณะนี้การจัดทำข้อมูล Big Data วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ วช.ดำเนินการ ยังต้องการงานวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมกันเป็น Big Data จึงจะตอบได้อย่างชัดเจนว่า งบวิจัยของประเทศต่อ GDP มีมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้เรามีนักวิจัย ประมาณ 140,000 คน และมีงานวิจัยอีกจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีการนำมารวมไว้ในที่เดียว ก็จะมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด แต่เชื่อว่าถ้าทำข้อมูลนี้เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถระบุได้ว่าประเทศไทยใช้งบวิจัยต่อ GDP เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้พยายามพัฒนาระบบนี้ให้สมบูรณ์ตามที่ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ได้ริเริ่มไว้

การเสวนาในครั้งนี้ จะชี้ให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาคประชาคมวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เห็นความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมการให้บริการสืบค้นข้อมูลและใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการวิจัยของประเทศ และทำให้ประชาชนเห็นว่า การลงทุนกับงานวิจัยมีความคุ้มค่าต่อการพัฒนาประเทศ

อสส. เตรียมพร้อม แผนเที่ยวชมสวนสัตว์ทั่วประเทศ รองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐ

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) เตรียมพร้อมแผนการเที่ยวชมสวนสัตว์ รองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านกายภาพภายในสวนสัตว์ทั่วประเทศ พร้อมบริการวิถีใหม่ (New Normal) ให้สวนสัตว์เป็น ZOO Safe Zone

​(28 ต.ค. 64) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ขานรับนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศ 120 วัน ภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านกายภาพภายในสวนสัตว์และมาตรการให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชม สวนสัตว์ โดยมีการจัดทำแผนบูรณาการรองรับการเปิดประเทศในปีนี้ ด้วยการพัฒนาสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมมั่นแก่ผู้ใช้บริการในมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ในพื้นที่กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และพัฒนารูปแบบการบริการวิถีใหม่ (New Normal) ของสวนสัตว์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ​

สวนสัตว์ทั้ง 6 แห่ง ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว (Zoo Safe Zone) มาอย่างต่อเนื่อง โดยจะคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวอย่างสูงสุด ทั้งนี้ ทุกสวนสัตว์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยว SHA และ พนักงานส่วนหน้าได้รับการฉีดวัคซีนครบ 100 % แล้วทุกสวนสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวชมสวนสัตว์ในช่วงการเปิดประเทศ ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ facebook : องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

“เฉลิมชัย” ลุยCOP26เดินหน้าโครงการลดก๊าซเรือนกระจก

 สั่งกยท.นำร่อง20,000ไร่ สร้างต้นแบบการจัดการคาร์บอนของสวนยางพาราในประเทศไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (29 ต.ค.64) ว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)รัฐบาลจึงได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2007 จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2015 – 2050 เป็นแผน 35 ปี

และในปีนี้ รัฐบาลไทยกำหนดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio – Circular – Green Economy Model (BCG Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การมีส่วนร่วมของภาคเกษตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษา และ 4. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีโครงการความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNDP, UNEP, FAO, ADB, GIZ ของเยอรมนี และความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ดำเนินการภายใต้กองทุน NAMA Facility ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดนมาร์ก และสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) โดยฝ่ายสหราชอาณาจักรยินดีสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือในครั้งนี้

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรทั้งในเรื่องของการเพาะปลูก ผลผลิต จนส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมทั่วประเทศได้รับผลดังกล่าวเช่นกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กยท.จึงดำเนินโครงการ “บริหารจัดการ คาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา” หรือโครงการลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่งของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย BCG MODEL ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล (Green Economy) สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ได้ลงนามในพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ในการส่งเสริมโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดทำมาตรฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต รวมทั้งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง

อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการของกยท. แล้ว รมว.เกษตรฯ ยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ต่อไป

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “บริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา” จะนำสวนยางพาราของ กยท.จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีการดำเนินงาน 2 ขั้นตอนคือ ในปี 2565 กยท.จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด CARBON MARKET ต่อไป ซึ่งจากการวิจัยในเรื่องคาร์บอนเครดิตพบว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีการกักเก็บคาร์บอนได้ดี สามารถเก็บได้ตั้งแต่อายุต้นยาง 1–18 ปี โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีแรกก่อนเปิดกรีด เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือการขนส่ง ที่จะส่งผลก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

กยท. จะขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสวนยางพาราอยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. ประมาณ 22 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง

พช.น้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าชุมชนเข้มแข็ง ปลูกผักสมุนไพร ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

ตลอดเวลา 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน

ดำเนินการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา วันคล้ายวันสถาปนากรมการพัฒนาชุมชน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 30 เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

สานต่อโครงการพัฒนาชุมชน เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อให้ชุมชนใช้พลังชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญ เนื่องในวันพัฒนา ความว่า “พัฒนา คือสร้างสรรค์” เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติตน และภารกิจของนักพัฒนา ให้บังเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชน

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสร้างพื้นที่ต้นแบบอย่างหลากหลายพื้นที่ ภายใต้โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยใช้พื้นที่ว่างปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานอย่างปลอดภัย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้วยความสำเร็จของแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างความมั่นคง
ทางอาหาร โดยรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เน้นการพึ่งพาตนเองให้รอดพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเยี่ยม ทำให้คนไทยกว่า 12 ล้านครัวเรือนเกิดการตื่นตัวปลูกพืชผักสวนครัวเป็นอย่างมาก ต่อมาสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการกลับมาแพร่ระบาดหนักเป็นรอบที่ 2 และ รอบที่3 โดยมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ทำให้ยารักษาโรคไม่เพียงพอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายหน่วยงานหันมาศึกษาวิจัยและในเรื่องของพืชสมุนไพรอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกและองค์กรสุขภาพอื่น ๆ ได้พูดถึง ระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของประเทศ ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่เต็มไปด้วยสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ผ่านการทดลองใช้และถ่ายทอดกันมานานจากรุ่นสู่รุ่นทั้งยังหาได้ง่าย และมีราคาถูก หากมีการนำมาพัฒนาอย่างครบวงจรจะช่วยบรรเทาความกดดันต่อระบบบริการสุขภาพ ประหยัด และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประกอบกับรัฐบาลมีการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งนับเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสุขภาพที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการส่งเสริมให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามการจะใช้สมุนไพรจำเป็นต้องมีการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และต้องมีการบรรจุรายการยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริงให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาสามัญประจำบ้านให้ประชาชนมีใช้ประจำบ้าน

สำหรับ 3 สมุนไพร ทางรอดสู้ภัย covid-19 ประกอบด้วย 1.ฟ้าทะลายโจร พืชสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัดแก้ไอและเจ็บคอ โดยฟ้าทะลายมี Andrographolide ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าสู่เซลล์ร่างกาย แบบแคปซูลกินภายใน 72 ชม.หลังรับเชื้อ ติดต่อกัน 5 วัน หรือกินยอดใบ 5-10 ใบต่อมื้อ 3-4 ครั้งต่อวัน 2.กระชายขาว ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส มีสาร Panduratin ช่วยในการต้านไวรัส ทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อ มีทั้งแบบแคปซูล หรือต้มสุกดื่มน้ำ และปรุงเป็นอาหาร 3.ขิง มีสารสำคัญ Zingerol และ Gingerol ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส มีทั้งแบบแคปซูล ผง หรือต้มดื่มตอนเช้าช่วยบำรุงปอด

จะเห็นได้ว่า สมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย จนทั่วโลกให้การยอมรับ นับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ผ่านมาทางกรมการพัฒนาชุมชน มีการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ กระชาย ฟ้าทะลายโจร อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับกับการขยายผลการปลูกผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชน ตามหลัก “บวร”(บ้าน-ชุมชน / วัด-ศาสนสถาน / โรงเรียน-ราชการ) ในกิจกรรมการ “น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนการปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชน วัด และโรงเรียน ในการปลูกฟ้าทะลายโจร และพืชสมุนไพรอื่น ๆ ในพื้นที่ว่าง นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาแหล่งอาหารใกล้บ้าน ลดรายจ่าย สร้างครัวให้กับชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีและสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วยทั้ง เห็นได้ว่าทั้ง 3 ส่วนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาจิตใจและจิตสํานึกด้านจริยธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเข้าถึงวัคซีนและค้นพบการรักษาทางเลือกเพิ่มมากขึ้น แต่การป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ใช้แอลกอฮอล์ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือที่เรียกรวมว่า วิถีชีวิตแบบ new normal ยังคงเป็นสิ่งที่ความสำคัญ หากได้รับการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) จะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน