กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้จัดงานเสวนาระดับชาติ “Future Earth Thailand 2567” ขึ้น ณ ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์กุล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ประธาน Future EarthThailand และผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า งานเสวนานี้มุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศร่วมกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ “Future Earth Thailand 2567” มีหลักการและเหตุผลที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ทั้งการตรวจวัดสภาพอากาศ ฝุ่นละออง การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล และการใช้งานที่ดิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในระบบติดตามและคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม
ในปี 2567 ภาคีความร่วมมือวิจัย Future Earth Thailand ได้เน้นการดำเนินงานใน 3 แผนงานหลัก ภายใต้โครงการ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการจัดการด้านการเกษตรและแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศในการติดตามและควบคุมคุณภาพอากาศ การประเมินคาร์บอน และการตรวจวัดแผ่นดินทรุด
2. การจัดการภัยพิบัติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีในการประเมินแผ่นดินทรุดและพายุซัดฝั่ง
3. การยกระดับเศรษฐกิจเกษตร โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในการสนับสนุนการขอใบรับรองมาตรฐานด้านการเกษตร
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือวิจัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศการวิจัยและการฝึกอบรมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการปัญหาเชิงพื้นที่และในระดับนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
“Future Earth Thailand 2024 เป็นความร่วมมือจาก 10 มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ 13 โครงการด้วยกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ โดยได้เงินสนับสนุนจาก องค์กร บพค.ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ อว. ครอบคลุมในส่วนของเรื่อง เกษตรอัจฉริยะ ปาล์ม ยางพารา การจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินทรุด การกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องของมลพิษทางอากาศ ต่อไปเราคิดว่าคงจะได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานมากขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายระดับนานาชาติ เราจะมี Fututer Earth Global โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจากFuture Earth Japan เข้ามาร่วม นอกจากนี้ยังมี Future Earth Taipei Canada Australia และ South Korea ที่ได้ส่งข้อความมาแสดงความยินดี กับ Future Earth Thailand ในครั้งนี้”
ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่างชาติ (กทบ.) กล่าวว่า “นโยบายสำคัญในการจัดตั้ง กองทุนหมู่บ้านขึ้นมาคือ ต้องการให้สมาชิกได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนการทำงานด้านเกษตรของตนเอง เป็นความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ
นอกจากนั้น ทางกองทุนหมู่บ้าน ยังมีโครงการนำร่องต่างๆ ที่จะช่วยทำให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นโครงการบำบัดน้ำให้เกิดน้ำสะอาด ของแต่ละชุมชน โครงการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคนฐานรากให้มีฐานะดีขึ้น เป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อ Future Earth เห็นความสำคัญของกองทุนหมู่บ้าน ตั้งแต่เรื่องของ มลพิษทางด้านอากาศ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งกระทบต่อสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านที่มีจำนวนมากถึง 13 ล้านคน การนำเอาบทวิจัย บทวิเคราะห์ของ Future Earth ไปใช้กับกระบวนการทำงานของสมาชิก หรือในส่วนของกองทุนหมู่บ้านเอง ย่อมเกิดประโยชน์โภคผลตามมามากมายอย่างแน่นอน ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหลายประการร่วมกัน ก็น่าจะเกิดประโยชน์โลกโดยรวมอย่างยั่งยืน”
Future Earth เป็นโครงการริเริ่มการวิจัยระดับโลกที่มุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์ด้านความยั่งยืน และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ยั่งยืนและเท่าเทียม เป็นเวทีความร่วมมือที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานจากทั่วโลกเพื่อจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
Future Earth สนับสนุนความคิดริเริ่มในการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการเข้าถึงทรัพยากร Future Earth ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานจากสาขาวิชาและภูมิภาคต่างๆ สิ่งนี้ช่วยให้แน่ใจว่าการวิจัยมีความเกี่ยวข้อง เข้าถึงได้ และมีประสิทธิภาพ