รองอธิบดี พช. ลงพื้นที่อำเภอองครักษ์ติดตามการขับเคลื่อน “ตำบลเข้มแข็งฯ” บูรณาการความร่วมมือกลไก 7 ภาคีเครือข่าย มุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในระยะ 5 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเองสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น Change for Good เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง จึงได้กำหนด Change for Good Flagship Policy คือ “โครงการตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นฐานการพัฒนา ภายใต้กลไกเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับตำบล และกลไก 7 ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้นำ กลุ่ม องค์กรภาคีเครือข่ายและประชาชนได้เรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต และนำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีความเข้มแข็งทั้ง 3 มิติ ด้านความมั่นคง ด้านความมั่งคั่ง และด้านความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการตำบลสู่ตำบลจัดการตนเองที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนและการใช้ระบบสารสนเทศชุมชน การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและการส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน เพื่อค้นหารูปแบบ วิธีการขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถขยายผลการดำเนินงานได้ครอบคลุมทุกตำบล
นายวิฑูรย์ นวลนุกูล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชน มีการกำหนดพื้นที่ตำบลเป้าหมายในการพัฒนาแล้ว 878 ตำบล และตำบลเป้าหมายได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนฯ และการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยบูรณาการความร่วมมือกลไก 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยโครงการนี้ จะส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ ประการแรก ตำบลมีการบริหารจัดการชุมชนโดยชุมชน ประชาชนมีอาหารเพียงพอปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง และอยู่ร่วมกันอย่างรู้รัก สามัคคี เกื้อกูล ประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย และมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประการต่อมา เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนชุมชนธรรมาภิบาลที่มีการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและชุมชน ประชาชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และประการท้ายสุด ประชาชนในตำบลน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถี มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน มีการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
จังหวัดนครนายกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเองสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยได้คัดเลือกตำบลบึงศาลเป็นตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านความมั่นคง มีผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา มีความสามัคคี ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง ใช้ทุนชุมชน ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุน กข.คจ. กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการส่งเสริมอาชีพ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และสร้างสวัสดิการชุมชน ด้านความมั่งคั่ง มีกลุ่ม OTOP หลากหลาย เช่น ผ้าปัก ไม้ประดับ กระถางปูนเปลือย ปลาส้ม ปลาบูดู มีรายได้เฉลี่ยตาม จปฐ. ปี 2565 จำนวน 77,722.96 บาทต่อคนต่อปี และด้านความยั่งยืน มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต มีการปลูกพืชปลูกผักทุกครัวเรือน อบต.บึงศาลได้มีการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการขยะและทำถังขยะเปียก ครบร้อย 100 เปอร์เซ็นต์ และมีการจัดพื้นที่ด้านหลัง อบต.บึงศาล ทำเป็นแปลงสาธิตการปลูกผัก ปลูกไม้ผล สร้างพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วนำไปปรับใช้ในครอบครัว ในชีวิตประจำวัน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ADVERTISEMENT