Uncategorized » กาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ จว.กาฬสินธุ์ เจ๋ง “แชมป์” ผลงานรณรงค์ “7 วัน(ไม่)อันตราย” อุบัติเหตุเป็น 0

กาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ จว.กาฬสินธุ์ เจ๋ง “แชมป์” ผลงานรณรงค์ “7 วัน(ไม่)อันตราย” อุบัติเหตุเป็น 0

22 เมษายน 2024
296   0

17 เม.ย. 2567

     ผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 อำเภอร่องคำ ร่วมกับ สภ.ร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โชว์ผลงานสุดเจ๋ง อุบัติเหตุ คนเจ็บ และเสียชีวิต เป็น 0 ขณะที่ภาพรวมของจังหวัด ปิดข้อมูลวันที่ 6 ของการรณรงค์ “7 วัน (ไม่) อันตราย” เกิดอุบัติเหตุ 3 ครั้ง บาดเจ็บ 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

     วันที่ 17 เมษายน 2567  สภ.ร่องคำ  ภ.จว.กาฬสินธุ์  ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา   ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์   โดย พ.ต.อ.จักรพันธุ์ จันหาญ ผกก.สภ.ร่องคำ  ในฐานะคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567  อำเภอร่องคำ ,

พ.ต.ท.สมพรพิพัฒน์  แสงทัพ   รอง ผกก.ป.สภ.ร่องคำ  เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ร่องคำ  ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ร่วมกันปฏิบัติงาน ตามมาตรการ “10 รสขม” และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นักท่องเที่ยวในชุมชนและเดินทางอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.67 เป็นต้นมา พบว่าทั้งในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิต เป็น 0

พ.ต.อ.จักรพันธุ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้  ตั้งแต่เริ่มดำเนินการฯ มา ทาง สภ.ร่องคำ ได้ร่วมกับ ว่าที่ ร.ต.อดุลเดช หมั่นวิชาชัย นายอำเภอร่องคำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุ รวมทั้ง กต.ตร.สภ.ร่องคำ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจป้องกันเหตุอาชญากรรม กวดขันเมาขับ และเปิดสัญญาณไฟวับวาบ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้เพิ่มความระมัดระวังชะลอความเร็ว เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ณ บริเวณหน้า สภ.ร่องคำ ถนนหมายเลข 2116 ยางตลาด-โพนทอง ต.ร่องคำ เป็นต้น ผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาตลอด 6 วันเต็ม นอกจากทุกอย่างจะเป็น 0 แล้ว ยังได้รับคำชื่นชมจากประชาชน นักท่องเที่ยว ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และเหตุอื่นๆได้ผล ที่สำคัญประชาชน นักท่องเที่ยว ลูกหลาน ที่กลับมาเยี่ยมบ้าน ได้เดินทางสะดวก ปลอดภัย และสนุกสนาน รื่นเริง มีความสุขตลอดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

     ขณะที่ห้องประชุมผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมปรับยุทธศาสตร์ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 จ.กาฬสินธุ์ ครั้งที่ 6/2567 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งแบบ Onsite และผ่านระบบ Online เช่น หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ/ผู้แทน ทั้ง 18 อำเภอ 

จากการรายผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ฯ วันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ “7 วัน (ไม่) อันตราย” สถิติสะสมการเกิดอุบัติเหตุทางถนนฯ อุบัติเหตุ 3 ครั้ง บาดเจ็บ 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย    ขณะที่ผลการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรการ “10 รสขม” ดำเนินคดี จำนวน 2,113 คน ข้อหาเมาแล้วขับ จำนวน 58 คน ด้านการตรวจยึดรถที่กระทำความผิด ข้อหาเมาสุราขณะขับรถ รถส่วนบุคคล จำนวน 10 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 48 คัน 

สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีข้อสั่งการในการปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 ข้อ ดังนี้ (1) ให้ตำรวจภูธรจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อาทิ การใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ และการใช้อุปกรณ์นิรภัย (2) ให้ขนส่งจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย โดยตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังตกค้างในสถานีขนส่ง เพื่อให้สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย (3) ให้ตำรวจภูธรจังหวัด ขนส่งจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด สร้างการรับรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัยและการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย และการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี  (4) ให้ขนส่งจังหวัด กำกับดูแลการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ  ทั้งระบบเบรก ระบบเกียร์ ยาง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย อาทิ เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ทุบกระจก เป็นต้น (5) ให้ขนส่งจังหวัด ตรวจสอบพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ และไม่เสพสารเสพติดใดๆ การทำงานต้องไม่เกินชั่วโมงการทำงานตามกฎหมาย และต้องไม่มีร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งไม่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด (6) ให้อำเภอ ทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมของยานพาหนะ โดยการตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทางกลับกรุงเทพมหานครหรือภูมิลำเนา และ (7) ให้ตำรวจภูธรจังหวัด แขวงทางหลวง บริหารจัดการในเรื่องการจราจร ไม่ให้มีการจราจรติดขัด โดยเฉพาะช่วงสี่แยกไฟแดง ขอให้จัดเจ้าหน้าที่ประจำสี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรหนาแน่น หรือจุดเสี่ยง

ทั้งนี้ มีการตั้งจุดตรวจในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้ง 18 อำเภอ แบ่งเป็น จุดตรวจหลัก 28 จุดตรวจ มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจ รวม 973 คน และด่านชุมชน จำนวน 107ด่าน มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจ รวม 3,757 คน

 ADVERTISEMENT